“นภินทร” เตรียมนำคณะผู้แทนไทยเยือนภูฏาน ร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ครั้งที่ 5 ถกประเด็นสำคัญ ทั้งการค้าและการลงทุน ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว หัตถกรรม การเกษตร พร้อมคิกออฟประกาศเปิดการเจรจา FTA อย่างเป็นทางการ และลงนาม MOU ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการพัฒนาสินค้าหัตถกรรม มั่นใจ ! FTA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันถึง 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เตรียมนำคณะผู้แทนไทยเยือนภูฏานตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจ้างงานภูฏาน เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ครั้งที่ 5 และการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 1 โดยภูฏานจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 15-17 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงทิมพู ภูฏาน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจ้างงานภูฏาน (นายนำเยล ดอร์จิ) เป็นประธานร่วมการประชุม
- เปิด 10 อันดับที่ดินต่างจังหวัด แพงสุดในประเทศไทย
- สถิติหวย ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวด 16 พ.ค. ย้อนหลัง 10 ปี
- กรมอุตุฯเตือน รับมือฝนตกหนักอีกรอบ 17-19 พ.ค.นี้ หนักสุดถึง 70% ของพื้นที่
โดยจะหารือประเด็นสำคัญ อาทิ การส่งเสริมการค้าและการลงทุน การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ อาทิ การท่องเที่ยว หัตถกรรม และการเกษตร รวมทั้งการแบ่งปันประสบการณ์ด้านวิชาการที่ไทยมีศักยภาพในสาขาที่ภูฏานสนใจ อาทิ การพัฒนาสินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน
นอกจากนี้ ไทยและภูฏานจะลงนามเอกสารขอบเขต (TOR) สำหรับการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและภูฏาน ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นการเจรจา FTA ไทย-ภูฏาน อย่างเป็นทางการ รวมทั้งลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมระหว่างสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) กับกรมการสื่อสาร อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญาภูฏาน เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการพัฒนาสินค้าหัตถกรรมระหว่างกัน
“การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในสาขาที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน ซึ่งภูฏานมีศักยภาพที่จะเป็นตลาดรองรับการส่งออกของไทยในระยะยาว เนื่องจากภูฏานมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และได้เป็นประเทศกำลังพัฒนา เมื่อปี 2566 ซึ่งมั่นใจว่า FTA ไทย-ภูฏาน จะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มพูนปริมาณการค้าระหว่างกัน และขับเคลื่อนการค้าให้บรรลุเป้าหมายที่มูลค่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,600 ล้านบาท” นายนภินทรกล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2566 การค้าระหว่างไทยกับภูฏาน มีมูลค่า 18.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปภูฏาน มูลค่า 18.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากภูฏาน มูลค่า 0.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผ้าผืน ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป ผลไม้แห้ง และเครื่องใช้ไฟฟ้า
สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ยางสำหรับอากาศยาน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ ศิลปกรรม และถั่งเช่า สำหรับในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค. 2567) การค้าระหว่างไทยกับภูฏาน มีมูลค่า 3.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปภูฏาน มูลค่า 3.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากภูฏาน มูลค่า 0.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ