สนค. เผยผู้ประกอบการภาคบริการ คว้าโอกาส-หลีกเลี่ยงผลกระทบ จากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้วเอลนีโญ-ลานีญา ที่เกิดขึ้นในปี 2567 นี้ ชี้ร้านค้า ร้านอาหาร ขนส่ง ท่องเที่ยว สุขภาพ ช่าง อาจกระทบทั้งทางบวกและลบ ต้องเตรียมวางแผนรับมือ
วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ ในปี 2567 นี้ ฤดูร้อนของไทยจะยาวนานไปถึงกลางเดือนพฤษภาคม โดยปรากฏการณ์เอลนีโญจะยังมีผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้อากาศแห้งแล้งและร้อนจัด ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นกลาง ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน และมีโอกาสถึง 60% ที่จะเข้าสู่ช่วงปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ซึ่งอาจทำให้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันและน้ำท่วมได้
- วิธีลงทะเบียนแอป ทางรัฐ ยืนยันตัวตน รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- เปิด 20 อันดับโรงพยาบาลดีที่สุดในไทย ปี 2567
- แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จุลพันธ์ แจงใช้จ่ายผ่านบัตรประชาชนได้
ทั้งนี้ จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เอลนีโญ สู่ลานีญาทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถคาดการณ์ได้ มีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบให้กับภาคธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการที่ต้องเตรียมรับมือ ซึ่งถือว่าเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจของไทย
โดยในปี 2566 ภาคบริการมีสัดส่วนสูงถึง 61% ของ GDP ไทย คิดเป็นมูลค่ากว่า 10.93 ล้านล้านบาท และครอบคลุมธุรกิจหมวดใหญ่ ๆ ถึง 15 สาขาที่เกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของประชาชน
ธุรกิจที่เป็นบวก
ธุรกิจภาคบริการที่ได้รับผลกระทบทางบวกจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง อาทิ ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่าง ๆ ที่ต้องพิจารณาจัดหาสินค้า โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มเครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ ให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคในช่วงที่เอลนีโญที่ยังไม่คลี่คลาย
รวมไปถึงการจัดหาสินค้ากลุ่มร่ม เสื้อกันฝน และเครื่องเป่าแห้ง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในช่วงฤดูฝนที่อาจได้รับอิทธิพลจากลานีญา
กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร อาจคว้าโอกาสจัดจำหน่ายอาหารที่เหมาะสมกับอากาศร้อนในช่วงเอลนีโญ เช่น ไอศกรีม น้ำแข็งไส หรืออาหารไทย อาทิ ข้าวแช่ และแตงโมปลาแห้ง ซึ่งอยู่ในกระแสซอฟต์พาวเวอร์ของไทยด้วย
ส่วนกลุ่มธุรกิจซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ ก็อาจพิจารณาเตรียมพร้อมการให้บริการซ่อมแซมยานพาหนะที่ได้รับผลกระทบจากอากาศร้อนในช่วงเอลนีโญและอุทกภัยในช่วงลานีญา
ในขณะที่ธุรกิจกลุ่มการดูแลรักษาสุขภาพก็อาจต้องพิจารณาเตรียมการดูแลรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ เช่น การเป็นลมร้อน ลมแดด อาหารเป็นพิษ ในช่วงอากาศร้อนจัด ไข้หวัดในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง และโรคน้ำกัดเท้า ตาแดง ตลอดจนไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคติดต่อและอันตรายที่มาจากน้ำท่วม
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มภาคบริการอื่นๆที่ได้ประโยชน์ เช่น การพยากรณ์และวางแผนการจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานสินค้าและบริการต่าง ๆ บริการกลุ่มนี้ยังช่วยในการวางแผนและบริหารจัดการภาคการผลิตอื่น ๆ ทั้งทางเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลผลิต
ธุรกิจที่เป็นลบ
ทั้งนี้ ในทางกลับกัน ธุรกิจบริการอีกหลายกลุ่มจำเป็นต้องพิจารณาแผนรับมือผลกระทบทางลบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง อาทิ กลุ่มห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่าง ๆ ที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ที่อาจเกี่ยวข้องกับการจัดการห่วงโซ่อุปทานของสินค้า เช่น อุทกภัย ทำให้ไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ กลุ่มร้านอาหาร ที่ต้องบริหารจัดการวัตถุดิบให้ไม่เน่าเสียและมีความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต
รวมถึงความต่อเนื่องในการดำเนินกิจการ กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ ที่อาจต้องจัดหาและซ่อมบำรุงระบบควบคุมอุณหภูมิสำหรับการขนส่งในห่วงโซ่ความเย็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือกับอุณหภูมิที่จะสูงขึ้นและอาจกระทบต่อสินค้าที่ขนส่ง รวมถึงวางแผนการใช้ยานพาหนะและเส้นทางสำรองในกรณีที่เกิดอุทกภัย
กลุ่มการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ที่อาจต้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังแขกผู้เข้าพักจากผลกระทบของสภาพอากาศด้วย
ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์เอลนีโญและลานีญาจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามวัฏจักร แต่ก็อาจปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกมีส่วนทำให้สภาพอากาศผันแปรและเกิดความสุดโต่งอย่างผิดปกติ ภาคธุรกิจต่าง ๆ
โดยเฉพาะภาคบริการ ซึ่งมีส่วนร่วมอย่างมากในระบบเศรษฐกิจ ก็มีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนสู่การทำธุรกิจที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นในอนาคต อาทิ การติดตามและลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินธุรกิจของตน
อย่างไรก็ดี ธุรกิจข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาคบริการที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในช่วงเวลาที่สภาพอากาศมีความเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วเช่นในปัจจุบัน จึงขอให้ผู้ประกอบการภาคบริการให้ความสำคัญกับการวางแผนและเตรียมการรับมือเหตุไม่คาดฝัน เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และสามารถคว้าโอกาสจากความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นได้