‘ภูมิธรรม’ ถกคาลดี้ (KALDI) ค้าปลีกญี่ปุ่นดันขายกาแฟ ผลไม้ สินค้าไทย พร้อมตอบรับร่วมเดิน THAIFEX เลือกช้อปสินค้าคุณภาพไทยขึ้นห้างเพิ่ม
วันที่ 12 พฤษภาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ หารือกับ Mr.Daisuke ODA ผู้บริหารบริษัท KALDI (คาลดี้) และคณะ เพื่อผลักดันสินค้าไทยไปจำหน่ายในร้าน KALDI ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกที่มีกว่า 270 สาขาในญี่ปุ่น และมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 30 สาขาในปีนี้และได้มีการนำเข้าสินค้าทั้งอาหาร ผลิตภัณฑ์เกษตรและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เจ้าสัววิเชียร เตชะไพบูลย์ แลนด์มาร์ก 4 ไร่พันล้าน “สาทร” ศาลเจ้าใหม่ “ไต้ฮงกง”
- วิธีลงทะเบียนแอป ทางรัฐ ยืนยันตัวตน รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- จีนแบน 3 บริษัทสหรัฐ ห้ามทำการค้า ห้ามผู้บริหารเข้าประเทศ
“การหารือครั้งนี้ได้ชวนบริษัทฯมาร่วมงาน THAIFEX – ANUGA ASIA 2024 ที่จะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 28 พ.ค.-1 มิ.ย.นี้ เพื่อเลือกสินค้าไทยไปจำหน่ายเพิ่มด้วย ”
สำหรับงาน THAIFEX – ANUGA ASIA 2024 ที่จะจัดช่วงระหว่างวันที่ 28 พ.ค.-1 มิ.ย.นี้ จะมีผู้ประกอบการไทยกว่า 3,000 ราย และผู้ประกอบการทั่วโลกอีกกว่า 1,000 ราย มีสินค้าที่หลากหลาย ทำให้งบริษัทฯ สามารถเลือกสินค้าได้ตรงกับความต้องการ เพื่อนำไปจัดจำหน่ายที่ห้างเพิ่มขึ้น โดยทางกระทรวงพาณิชย์จะอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี ทางบริษัทฯได้ตอบรับคำเชิญและยินดีที่จะใช้สินค้าคุณภาพจากไทยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ร้าน KALDI เป็นร้านค้าปลีกจำหน่ายสินค้าที่นำเข้าจากหลากหลายประเทศ กว่า 10,000 รายการ จาก 90 ประเทศทั่วโลก มีสาขากระจายอยู่ทั่วญี่ปุ่น ซึ่งสินค้าที่นำเข้าจะเป็นสินค้าที่เป็นที่รู้จักและมีความโดดเด่น รวมไปถึงสินค้าท้องถิ่นญี่ปุ่นที่มีความพิเศษและไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป
“ผมจึงแนะนำให้ทางบริษัทนำเข้าสินค้าไทยไปจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น อาทิ กาแฟ ผลไม้และสินค้าไทย ซึ่งกาแฟของไทยเป็นกาแฟที่มีคุณภาพ ทั้งกาแฟดอยตุง ดอยช้าง ท่าวังผา จังหวัดน่าน เป็นต้น เพราะทางภาคเหนือของไทยมีภูเขาสูง ดินมีคุณภาพเหมาะกับการปลูกกาแฟ
และยังตรงกับแนวคิดของบริษัทที่ต้องการสนับสนุนด้านความยั่งยืน และช่วยเหลือคนท้องถิ่น เพราะทางไทยก็สนับสนุนให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน ปลูกป่า ไม่เผาป่า จากสมัยก่อนมีคนบนดอยที่ปลูกยาเสพติดก็หันมาปลูกกาแฟ มีรายได้ สร้างอาชีพ ลูกหลานไม่ต้องหางานทำในเมือง เพราะสามารถทำกาแฟคุณภาพ มีรายได้ที่ดี และไทยยังอยู่ในเส้นศูนย์สูตรเดียวกันกับประเทศบราซิลที่ขึ้นชื่อเรื่องกาแฟ ”
นอกจากนี้ยังมีผลไม้คุณภาพที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวญี่ปุ่น อาทิ กล้วยหอมทอง ทุเรียน และมังคุด สำหรับกล้วยหอมทองเราได้มีการปรับปรุงคุณภาพโดยใช้เทคนิคของผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นทำให้มีผลผลิตที่มีคุณภาพตลอดทั้งปี จึงอยากแนะนำให้บริษัทฯนำเข้าผลไม้ไทยเพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า สินค้าไทยที่มีศักยภาพและมีโอกาสขยายตัวในตลาดญี่ปุ่นได้มีหลายประเภท เช่น สินค้าผลไม้ไทย อาทิ 1. กล้วยหอม เนื่องจากไทยมีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ทางญี่ปุ่นให้สิทธิพิเศษการยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยจากไทยเป็นจำนวน 8,000 ตัน
ซึ่งยังไม่ครบโควต้าที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นพัฒนาพันธุ์กล้วยหอมทองให้ตรงกับความต้องการของตลาดญี่ปุ่น 2.มังคุด เนื่องจากญี่ปุ่นผ่อนปรนการนำเข้ามังคุดจากไทยไม่ต้องผ่านการกำจัดศัตรูพืชด้วยกระบวนการอบไอน้ำ(Vapor Heat Treatment) ทำให้สะดวกต่อการนำเข้ามากขึ้นเป็นโอกาสดีหากญี่ปุ่นจะนำเข้าเพิ่มเติม
3. สินค้า Functional Food เช่น สินค้าอาหารที่ทำจากพืช ขนมขบเคี้ยวที่มีเส้นใย ดีต่อสุขภาพ อาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อย ก็เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ และน่าจะจำหน่ายได้ดี สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169