ญี่ปุ่นนับเป็นตลาดส่งออกหลักที่สำคัญของไทยในช่วงที่ผ่านมา “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ จึงนำคณะผู้บริหารเยือนกรุงโตเกียว ในระหว่างวันที่ 9-12 พฤษภาคม 2567 เพื่อสานต่อภารกิจขยายตลาดการค้าไทยหลังจากที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินได้กรุยทางไว้ก่อนหน้านี้
นำสินค้าไทยปักหมุด
ในโอกาสนี้นายภูมิธรรมจะเป็นประธานการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ RAKUTEN แพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมี Mr. Kazunori Takeda รองประธาน RAKUTEN Group,Inc. เพื่อส่งเสริมสินค้าไทยสามารถขยายช่องทางร้าน TOPTHAI ผ่านธุรกิจอีคอมเมิร์ซไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
- จีนแบน 3 บริษัทสหรัฐ ห้ามทำการค้า ห้ามผู้บริหารเข้าประเทศ
- วิธีลงทะเบียนแอป ทางรัฐ ยืนยันตัวตน รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- ด่วน วิชิต สุรพงษ์ชัย ลาออกทุกตำแหน่งในบอร์ด “SCBX” ตั้ง พ.ต.อ.ธรรมนิธิ แทน
ทั้งนี้ Rakuten เป็นแพลตฟอร์มที่มียอดขายสูงสุดในญี่ปุ่น มีผู้ใช้งานประมาณ 50 ล้านคนต่อเดือน มีรายได้เติบโต 23.8% มูลค่า 350 ล้านบาทต่อวัน จากจำนวนร้านค้าในแพลตฟอร์ม 57,000 ร้าน
จุดเริ่มต้นความร่วมมือในครั้งนี้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 เน้นไปที่สินค้าที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาดก่อนแล้ว รวมกว่า 1,000 รายการ สามารถสร้างยอดขายได้ 50 ล้านบาท โดยประเภทสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ สินค้าอาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูป คิดเป็น 65% ของยอดขาย รองลงมา คือ สินค้าสปา คิดเป็น 20% สินค้าข้าวหอมมะลิ 10% และสินค้าสัตว์เลี้ยง 5%
“MOU ความร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถสร้างการรับรู้และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้สินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่น เพิ่มโอกาสทางการตลาดและทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทย คาดว่าหลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วจะเพิ่มยอดขายได้เป็น 145 ล้านบาทต่อปี เพราะตลาดออนไลน์ญี่ปุ่นนับได้ว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีส่วนแบ่งตลาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ในปี 2566 รองจากจีน สหรัฐ และสหราชอาณาจักร”
แผนงานเบื้องต้นจากนี้ไทยจะจัดตั้งร้าน TOPTHAI ในแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย ทาง RAKUTEN จะช่วยสนับสนุนด้านการตลาด รวมถึงพัฒนาทักษะให้ผู้ประกอบการไทย เพื่อขยายไปยังสินค้าอื่น เช่น สินค้าฮาลาล สินค้า BCG อาหารอนาคต และสินค้าดีไซน์ต่าง ๆ ในอนาคต
พบ เคดันเรน ดึงลงทุน
ไฮไลต์สำคัญ นายภูมิธรรมมีกำหนดพบและหารือกับ นายซูซูกิ จุน ประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย ภายใต้สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) ซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทญี่ปุ่น 1,548 แห่ง และสมาคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศอีก 154 แห่ง และองค์กรเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอีก 47 จังหวัด
การหารือครั้งนี้นับเป็นการพบกันครั้งแรก ซึ่งทั้งสองฝ่ายมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อฟันฝ่าปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังมีผันผวนสูงไปให้ได้
“รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากรับตำแหน่งมา 8 เดือน มีนโยบายที่มุ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดำเนินการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) หลาย ๆ ฉบับ และจะมีการทบทวนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อให้เกิดความครอบคลุมประเด็นการค้าใหม่ ๆ
ทั้งยังจะมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ เร่งขับเคลื่อนการส่งออก ด้วยการใช้นโยบายส่งเสริม Soft Power ให้กับสินค้าและบริการของไทย ทั้งยังมุ่งส่งเสริมการผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์กติกาใหม่ต่าง ๆ ของโลก เช่น การลดการปลดปล่อยคาร์บอน เอสดีจี เป็นต้น”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนสะสมในประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มีผู้ประกอบการญี่ปุ่น 5,800 บริษัทอยู่ในประเทศไทย ด้านการท่องเที่ยว รัฐบาลไทยยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นนาน 30 วัน นับจากวันที่ 1 ม.ค. 2567 ซึ่งจะทำให้การเดินทางระหว่างสองประเทศสะดวกมากขึ้น
ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้เสริมสภาพแวดล้อมที่ดีในการดึงดูดการลงทุน โดยได้ปลดล็อกให้คนต่างด้าว รวมถึงญี่ปุ่น สามารถเข้ามาถือหุ้นเสียงข้างมากในธุรกิจ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวได้ในธุรกิจบริการหลายสาขา อาทิ ธุรกิจหลักทรัพย์ ประกันชีวิต สถาบันการเงิน และในอนาคตจะมีการเปิดกว้างในการทำธุรกิจสาขาอื่นมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไทยในฐานะที่เป็นฐานหลักในซัพพลายอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งในช่วงการเปลี่ยนผ่านการผลิตรถยนต์จากรถสันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งมีผู้ประกอบการไทยที่เคยผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถสันดาปบางส่วนจะต้องผันตัวสู่ธุรกิจอื่น
“กระทรวงจะขอให้เคดันเรนช่วยเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงธุรกิจไทยสู่กลุ่มผู้ผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งเครื่องมือแพทย์ รถไฟ อากาศยาน เอไอ ของญี่ปุ่นด้วย”
โดยหลังจากนี้ภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายมีกำหนดจะประชุม Japan-Thailand Trade and Economic Committee ครั้งที่ 25 ในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ณ กรุงโตเกียว ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสในการพบกันอีกครั้ง
ดันซอฟต์พาวเวอร์-ซีรีส์วาย
พร้อมกันนี้นายภูมิธรรมจะเข้าร่วมงาน Thai Festival Tokyo 2024 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 24 เพื่อเข้าร่วมการโปรโมตสินค้าไทย โดยภายในงานนี้มีผู้ประกอบการนำสินค้ามาจัดแสดง 11 ราย มีคูหาผ้าไทยของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัดทำโครงการ “ผ้าไทยใส่สนุก” และได้นำมาโปรโมตในครั้งนี้ด้วย อีกทั้งจัดพื้นที่โปรโมตซีรีส์วาย เช่น แมนสรวง ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ของไทย และจะมีการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย การจัดแสดงดนตรี กีฬา เต้นรำด้วย
หลังจากนั้นจะเข้าพบหารือกับ MR. Nubuo Domae ประธานบริษัท MUJI แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง และชมสาขามูจิที่ย่าน Ginza เพื่อต่อยอดการหารือจากการเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ MUJI นับได้ว่าเป็นแบรนด์สินค้าเสื้อผ้าและเครื่องใช้ในบ้านที่โดดเด่นและเรียบง่าย คุณภาพดี ราคาไม่สูง ซึ่งทำให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจนมีสาขามากกว่า 1,000 แห่ง มีสินค้ามากกว่า 7,000 รายการ มียอดขายทั่วโลก 1.2 แสนล้านบาทต่อปี
“มูจิเฉพาะในไทยก็มีถึง 32 สาขา กระจายไปในอุดรธานี ขอนแก่น เชียงใหม่ มีกิจกรรมร่วมส่งเสริมสินค้าเสื้อผ้าท้องถิ่นของไทย และยังได้มีการจัดส่งดีไซเนอร์มาประจำที่ไทย รวมถึงให้คำแนะนำผู้ผลิตสินค้าไทยภายใต้โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เพื่อนำไปจำหน่ายในร้านมูจิในไทยด้วย”
นอกจากนี้ จะนำทัพเอกชนไทยสำรวจการจำหน่ายสินค้าไทยในซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น KALDI และ Beisia ซึ่งเป็นห้างที่มีสาขาจำนวนมาก และได้มีโซนจัดจำหน่ายสินค้าผลไม้ไทย ทั้งมังคุด กล้วยหอม มะม่วง ซึ่งการจัดกิจกรรมอินสโตร์โปรโมชั่นครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมการขยายตลาดสินค้าไทย โดยเฉพาะกล้วยหอมจาก จ.นครราชสีมา ออกสู่ตลาดญี่ปุ่น ด้วยการใช้ประโยชน์จาก JTEPA ตามเป้าหมายเพิ่มการส่งออกอีก 5,000 ตัน ตามโควตาที่ไม่มีภาษีภายใน 1 ปีด้วย