ส่งออกอัญมณีไทยฟื้น จีไอทีเปิด 5 ยุทธศาสตร์ดันศูนย์กลางการค้า

jewelry

จีไอที ชี้แนวโน้มส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเริ่มฟื้นจากเศรษฐกิจโลกดี ขณะที่มีส่งออกเดือนมีนาคม 2567 มูลค่า 691.55 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 9.77% ฟื้นตัว 7 เดือนติด พร้อมเปิด 5 ยุทธศาสตร์ ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก

วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่าแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่า จะยังคงฟื้นตัวดีขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินเศรษฐกิจโลก เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2567 ว่าจะอยู่ที่ 3.2% ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญพลิกกลับมาเป็นบวกได้ ทั้งสหรัฐ อินเดีย เยอรมนี เบลเยียม และสหราชอาณาจักร และได้แรงหนุนจากการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับหลายงานทั่วโลก

สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย
สุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย

ส่วนทองคำ ยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจ และมีโอกาสที่ราคาจะขยับขึ้นได้อีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ต้องจับตาประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจขยายตัวเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน และปัญหาค่าครองชีพ ที่ยังเป็นประเด็นที่กดดันเศรษฐกิจ

ส่วนการทำตลาดจากนี้ ควรใช้การตลาดเชิงสร้างสรรค์ด้วย AI มาช่วยสร้างสรรค์ผลงาน เพราะไม่เพียงช่วยให้การสร้างงานต้นแบบได้รวดเร็วมากขึ้น แต่ยังสามารถเป็นเสมือนเพื่อนร่วมคิดที่สอบถาม ให้คำแนะนำ เพื่อเติมเต็มแรงบันดาลใจให้ได้รับไอเดียใหม่ ๆ ในการสร้างรูปแบบให้ตรงตามความคาดหวังของผู้บริโภค และการสื่อสารกับผู้บริโภค ควรใช้การตลาดแบบอินฟลูเอนเซอร์ที่ยังเป็นเทรนด์ที่มาแรง

เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการมากกว่าแค่ตรารับรอง ต้องการความสัมพันธ์ที่จริงใจและน่าเชื่อถือจากผู้มีอิทธิพลหรือเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นสองส่วนสำคัญ ที่ช่วยผลักดันธุรกิจให้เติบโต ไม่ว่าเป็นธุรกิจระดับขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่

Advertisment

ขณะที่การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน มี.ค. 2567 มีมูลค่า 691.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.77% ฟื้นตัวต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 1,083.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 50.73% ส่วนยอดรวม 3 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 2,513.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 13.36% หากรวมทองคำ มูลค่า 4,115.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.28%

“การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ ยังคงฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยฟื้นตัวดีขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่วนการส่งออกที่รวมทองคำลดลงกว่า 50% เนื่องจากราคาทองคำตลาดโลกมีความผันผวนในทิศทางที่สูงขึ้น ทำให้คาดเดาได้ยาก จึงส่งผลให้มีการส่งออกทองคำไปเก็งกำไรลดลง

โดยการส่งออกทองคำรวม 3 เดือน มีมูลค่า 1,601.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 16.11% แยกเป็น ม.ค. มูลค่า 469.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 194.17% ก.พ. มูลค่า 740.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 309.51% และ มี.ค. มูลค่า 391.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 75.02%”

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยสหรัฐเพิ่ม 10.81% ฮ่องกง เพิ่ม 34.29% เยอรมนี เพิ่ม 18.62% อินเดีย เพิ่ม 81.44% เบลเยียม เพิ่ม 70.08% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 5.75% กาตาร์ เพิ่ม 22.83% ญี่ปุ่น เพิ่ม 14.12% อิตาลี เพิ่ม 4.01% แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 21.19%

Advertisment

ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 10.58% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 26.59% พลอยก้อน เพิ่ม 129.40% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 11.37% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 28.84% เพชรก้อน เพิ่ม 3.92% เพชรเจียระไน เพิ่ม 7.54% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 15.39% ของทำด้วยไข่มุกและรัตนชาติ เพิ่ม 31.24% ส่วนทองคำ ลด 16.11% เครื่องประดับแพลทินัม ลด 47.19%

นายสุเมธกล่าวอีกว่า เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก และเสริมสร้างความน่าเชื่อถือในระดับโลกนั้น จีไอทีได้กำหนดแนวทางการทำงานภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1.ยกระดับมาตรฐานการตรวจรับรองอัญมณีและเครื่องประดับ และโลหะมีค่าสู่สากล โดยผลักดันการใช้ และอ้างอิงมาตรฐานอัญมณีฯให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จัดทำมาตรฐาน GIT Standard สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการตรวจสอบ (ห้องแล็บ) ให้มีมาตรฐานการตรวจสอบเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทย และชาวต่างชาติเชื่อมั่นในการวิเคราะห์ตรวจสอบ และใช้ใบรับรองคุณภาพสินค้าเพิ่มขึ้น

สำหรับจีไอที ซึ่งมีภารกิจในการตรวจสอบ และออกใบรับรองอัญมณีและโลหะมีค่านั้น ห้องแล็บของจีไอที มีมาตรฐาน ได้รับการยอมรับระดับจากสมาพันธ์เครื่องประดับโลก (CIBJO) และ Laboratory Manual Harmonization Committee (LMHC) อีกทั้งยังได้ดำเนินการที่เป็นมาตรฐานสากลและระบบคุณภาพมาตรฐาน นอกจากนี้ จีไอที ยังได้เป็นสมาชิก The Responsible Jewellery Council (RJC) ซึ่งเป็นองค์การที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการเข้าสู่การค้าอัญมณีฯแบบมีความรับผิดชอบต่อสังคม

2.ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ที่นำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และเชิงสังคม เช่น พัฒนานวัตกรรมในการผลิตเครื่องประดับ และต่อยอดขยายผลเชิงพาณิชย์สำหรับวิจัยที่โดดเด่น เช่น ฐานข้อมูลอัจฉริยะแหล่งอัญมณีโลก, กระบวนการพัฒนาสีพลอยทัวร์มาลีนโดยเทคโนโลยีทางนิวเคลียร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าอัญมณีในอุตสาหกรรม เป็นต้น

3.การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีฯ โดยมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง การสร้างแบรนด์ โดยสอนตั้งแต่ระดับช่างฝีมือ พนักงานขาย ไปจนถึงผู้ประกอบการ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ/นักออกแบบ/Start-Up เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เป็นต้น

4.การเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านอัญมณีฯของประเทศ โดยมุ่งสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลอัญมณีฯ จัดทำข้อมูลเชิงลึกและบทวิเคราะห์ด้านการตลาดอัญมณีฯที่ครอบคลุมหลากหลายตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

และ 5.พัฒนาจีไอทีไปสู่องค์กรดิจิทัล ที่มีสมรรถนะสูง และเสริมสร้างภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพขององค์กรไปสู่ระดับสากล

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอัญมณีฯ เป็นอันดับที่ 14 ของโลก นำรายได้เข้าประเทศสูงเป็นอันดับ 3 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของไทย หรือราว 400,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับมูลค่าการค้าในประเทศอีกราว 600,000 ล้านบาทแล้ว ก่อให้เกิดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 5.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ มีการจ้างงานกว่า 800,000 คนตลอดห่วงโซ่การผลิต แบ่งเป็น 78% อยู่ในวงการค้าปลีก ค้าส่ง และ 20% เป็นนักออกแบบ ช่างมือและเจียระไน คนทำงานในเหมือง

Scroll to Top