“นายก” ถกแก้ GDP ไทยต่ำ รั้งท้ายอาเซียน-ปัจจัยลบอื้อ

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

“เศรษฐา” เรียกถก ครม.เศรษฐกิจรับมือจีดีพีไทยโตต่ำ สภาพัฒน์เปิดข้อมูลไตรมาสแรกรั้งท้ายอาเซียน ปัจจัยลบรุม-ความสามารถแข่งขันต่ำ ศูนย์วิจัยกสิกรฯ-KKP ชี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้ง “เก่า-พัง” ขณะที่ภาคท่องเที่ยวมีแค่ปริมาณ ยอดใช้จ่ายต่อหัวต่ำ ซีไอเอ็มบี ไทย ห่วงดัชนีภาคการผลิตไทยหดตัวต่อเนื่อง 6 ไตรมาส ผลกระทบจากส่งออกทรุด กำลังซื้อในประเทศยังไม่กระเตื้อง หนี้ครัวเรือนค้ำคอ-หนี้เสียพุ่ง ลุ้นขุนคลังออกมาตรการพยุงกำลังซื้อ แบงก์พาเหรดหั่นจีดีพีปี’67 เหลือแค่ 2.3% จับตาเอกชนไม่เชื่อมั่นชะลอลงทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปิดเผยว่า ไตรมาส 1/2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 1.5% ต่อปี สะท้อนว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย
ไตรมาส 1/2567 เรียกว่าโตต่ำสุดในอาเซียน โดยฟิลิปปินส์ ขยายตัว 5.7%, เวียดนาม 5.66%, อินโดนีเซีย 5.11%, มาเลเซีย 4.2% และสิงคโปร์ 2.7%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ขยายตัว 1.5% ต่อปี โดยแรงส่งสำคัญของการขยายตัวมาจากการบริโภคภายในประเทศขยายตัวได้ 6.9% และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวสูง 24.8% ขณะที่การลงทุนรวมหดตัว 4.2% โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่หดตัวถึง 27.7% จากงบประมาณปี 2567 ที่ยังไม่ได้ประกาศใช้ในไตรมาสแรก

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.6% การส่งออกหดตัว 1% ผลจากเดือน มี.ค. ส่งออกหดตัวถึง 10% ขณะที่ภาคเกษตรหดตัว 3.5% จากสภาพอากาศที่ทำให้ผลผลิตลดลง นอกจากนี้ สภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการ GDP ปีนี้ จะขยายตัว 2.5% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 2.0-3.0%) ลดลงจากเดิม 2.7% (ช่วง 2.2-3.2%)

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความบน X ว่า “กลับไปกรุงเทพฯ จะประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยเร็วครับ วันจันทร์ที่ 27 พ.ค. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยครับ จะเรียกได้ว่าเป็นคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการก็ได้นะครับ”

Advertisment

ห่วงภาคผลิตหดตัวต่อเนื่อง

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า จากที่สภาพัฒน์รายงาน เศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัวที่ 1.5% โดยแรงขับเคลื่อนมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดี รวมทั้งภาคการส่งออกบริการ หรือการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่เร่งตัวได้แรง อย่างไรก็ดี ยังกังวลภาคการบริโภค แม้จะขยายตัวได้ดีจากตัวเลขนักท่องเที่ยว แต่ก็ยังมีการกระจุกอยู่ในการใช้จ่ายในหมวดโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง หรือการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก

“ขณะที่กำลังซื้อของคนในประเทศก็ยังไม่ได้เห็นการเติบโตที่ชัดเจน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อาจจะต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป รวมทั้งที่เป็นห่วงคือ ภาคการผลิต เพราะเห็นการหดตัวต่อเนื่อง แม้การส่งออกช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.จะพลิกเป็นบวกได้ แล้วลงต่ำในเดือน มี.ค. อาจเป็นปัจจัยชั่วคราวยังมีการฟื้นตัวของส่งออกได้อยู่ แต่การผลิตของไทยก็ยังเติบโตช้า หรือยังมีสัญญาณการหดตัวของภาคการผลิตที่อาจจะกระทบกับการจ้างงานและกำลังซื้อของคนในประเทศต่อไป”

ดร.อมรเทพกล่าวยอมรับว่า การเติบโตที่ 1.5% เป็นระดับที่ต่ำที่สุดในอาเซียน แต่ถ้าดูการเติบโตที่เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าก็ถือว่าไม่ได้ต่ำจนน่าเกลียด ส่วนหนึ่งมาจากฐานไตรมาสแรกปีก่อนที่สูงด้วย และที่สำคัญ ในช่วงดังกล่าวงบประมาณก็ยังไม่มาด้วย ไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ การก่อสร้างยังได้รับผลกระทบ รวมถึงส่งออกก็ไม่ได้ฟื้นเต็มที่ และภาคการผลิตที่หดตัวต่อเนื่อง มีแต่ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นพระเอก แต่ทั้งนี้ก็ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้า

ลุ้นมาตรการคลังเร่งเครื่อง

ดร.อมรเทพกล่าวว่า หลังจากนี้งบประมาณน่าจะทยอยออกมา เร่งให้เกิดการลงทุน การใช้จ่ายต่าง ๆ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ อย่างไรก็ดี สภาพัฒน์ได้มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีลง แสดงว่ามองไปข้างหน้าต้องมีอะไรที่น่ากังวล โดยซีไอเอ็มบี ไทย ยังคาดการณ์ระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 2.3% เทียบกับสภาพัฒน์ที่มอง 2.5% แต่ก็มีการปรับลดลงจากเดิมที่คาด 2.7%

Advertisment

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ 3 ส่วนก่อนปรับประมาณการจีดีพีอีกรอบ คือ 1.ตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าเดือน เม.ย.มีการฟื้นตัวแค่ไหน 2.มาตรการภาครัฐที่หลังจากมีงบประมาณแล้ว และมีรัฐมนตรีคลังคนใหม่ จะจัดงบประมาณกระตุ้นหรือประคองกำลังซื้ออย่างไรในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปีนี้ หรือจะรอแต่มาตรการดิจิทัลวอลเลตช่วงปลายปีอย่างเดียว ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงกลางปีได้

3.สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน มีความเสี่ยงที่จะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบภาคส่งออกของไทยที่อาจหดตัวได้ หากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น และจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในลำดับถัดไป

เศรษฐกิจไทยเสี่ยงขาลง

“เรามองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงขาลงค่อนข้างมาก ส่วนปัจจัยบวกน่าจะมาจากการลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่น่าจะพอประคองเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะกำลังซื้อระดับล่าง ทั้งนี้ เราอยากเห็นมาตรการจากนี้ไปเป็นการช่วยดูแลกำลังซื้อระดับล่าง

ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่กระเป๋า การลดค่าครองชีพ อย่างราคาก๊าซหุงต้ม การอัดฉีดเงินเสริมสภาพคล่องให้กลุ่มเอสเอ็มอีในรูปเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น นอกจากนี้ต้องเร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามามากขึ้น” ดร.อมรเทพกล่าวและว่า

สำหรับการลดดอกเบี้ยนโยบาย ช่วงนี้อาจจะยังไม่จำเป็น เนื่องจากแบงก์มีการลดดอกเบี้ย MRR กันไปแล้ว ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบในกลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่มเปราะบางได้บ้าง มากกว่าการหว่านแหด้วยการลดดอกเบี้ยทั้งหมด

“น่าจะไปเห็นการลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ หลังจากเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) ลดดอกเบี้ยไปแล้ว เพื่อช่วยทำให้เสถียรภาพตลาดเงิน ตลาดทุนของไทยยังดำเนินการได้ ไม่ถูกกระทบจากการลดดอกเบี้ยก่อนเฟด ซึ่งจะกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย”

เครื่องยนต์เศรษฐกิจ “เก่า-พัง”

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 1/2567 ขยายตัวต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค

เช่น มาเลเซีย 4.2% อินโดนีเซีย 5.1% เป็นต้น แม้ว่าฐานการเติบโตอาจจะไม่เหมือนกัน แต่สะท้อนว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยทยอยถดถอยและปรับลดลงต่อเนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ มองไปข้างหน้าศักยภาพการเติบโตในระดับ 3% ถือว่าทำได้ยากขึ้น ภายใต้ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ เช่น หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สังคมสูงวัย และเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เริ่มเก่าและพัง ทั้งในเรื่องภาคการท่องเที่ยว แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะขยายตัวได้ดี แต่เป็นการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้หรือการใช้จ่ายต่อหัวไม่สูง

ขณะที่ส่งออกที่เริ่มชะลอจากสินค้าที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของโลก หรือการผลิตรถยนต์ที่คิดเป็นสัดส่วน 10% ของจีดีพี เผชิญปัญหาอยู่จากการเปลี่ยนผ่านจากรถสันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ดังนั้น หากไทยไม่สามารถผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหา หรือไม่ทำอะไรเลย ภาคธุรกิจจะล้มหายตายจากไป และเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าเติบโตช้าลง เช่น ปัจจุบันศักยภาพการเติบโตอยู่ที่ 3% อีก 10 ปีอาจเหลือแค่ 1- 2%

ดังนั้น ภาครัฐจะต้องเร่งหาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในการผลักดันเศรษฐกิจ และดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามาลงทุน หรือแรงงานเข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนและปรับปรุงกฎหมายและกติกาที่เป็นอุปสรรค

“ภาพรวมการเติบโตของเราน่าห่วง เพราะเรามีปัญหาที่สะสมมานาน และมีปัญหาเยอะขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศมากกว่าภายนอก เพราะว่าหากเรามีปัญหาเชิงโครงสร้างภายใน ต่อให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้นหรือไม่ดี เราก็จะไม่ได้รับอานิสงส์จากตรงนั้น และเศรษฐกิจเราจะค่อย ๆ ซึมลงเรื่อย ทำให้ประเทศไทยตกหล่ม”

ไทยเหลือเครื่องยนต์เดียว

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จีดีพีไทยไตรมาส 1 ที่ออกมาต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นประเด็นทางเทคนิคที่งบประมาณปี 2567 ล่าช้า ทำให้พระเอกมีเครื่องยนต์เดียวคือ การท่องเที่ยว ส่วนเครื่องยนต์อื่นดับหมด

“การเบิกจ่ายภาครัฐในไตรมาสแรกติดลบไป 27% ซึ่งมีผลต่อจีดีพี 1.5% ถ้าการเบิกจ่ายไม่ได้แย่แบบนี้ จีดีพีควรจะดีกว่านี้ แต่มาตกม้าตายเพราะประเด็นทางเทคนิค ซึ่งประเด็นนี้จะดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 เพราะงบประมาณผ่านแล้ว ดังนั้นช่วงที่เหลือของปีก็ควรจะดีขึ้น”

ทั้งนี้ KKP ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโต 2.6% ซึ่งไตรมาส 2 และช่วงที่เหลือของปีก็น่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก โดย 3 ไตรมาสที่เหลือก็น่าจะโต 2-3% ซึ่งโตระดับดังกล่าวก็ไม่ใช่ว่าจะดี ประเด็นสำคัญก็คือ ประเทศไทยไม่มีเครื่องยนต์อื่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากการท่องเที่ยว

“ตัวที่เป็นตัวดึงมากที่สุดก็คือ เรื่องความสามารถในการแข่งขัน และภาคการผลิตที่ติดลบต่อเนื่องมา 6 ไตรมาสแล้ว นอกจากนี้การปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคารที่แทบจะติดลบ ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี หนี้เสียเพิ่มขึ้น แบงก์ก็ยิ่งไม่อยากปล่อย ทุกอย่างก็ต้องระมัดระวัง

ดังนั้น การซื้อรถ ซื้อบ้านกระทบหมด โดย 2 เรื่องนี้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ใหญ่มากสำหรับเศรษฐกิจไทย ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 3% และที่น่ากังวลก็คือ การท่องเที่ยวที่จะเบาลงเรื่อย ๆ คำถามก็คือ เรามีเครื่องจักรอื่นขึ้นมาทดแทนทันไหม”

กรุงไทยหั่น GDP ลงทุนรัฐฉุด

ขณะที่ Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า หลังจากสภาพัฒน์เปิดข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1/2567 ขยายตัว 1.5% และปรับลดคาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ลงเหลือ 2.5%

โดย Krungthai COMPASS ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2567 มีแนวโน้มเติบโต 2.3% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดไว้ 2.7% สอดคล้องกับมุมมองของสภาพัฒน์ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจในปีนี้มีปัจจัยกดดันจาก 1.การส่งออกสินค้าที่อาจเติบโตได้ต่ำจากการค้าโลกที่ฟื้นตัวช้า และไทยยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย

และ 2.การลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอตัว จากผลกระทบของการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวช้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของสภาพัฒน์

หวั่นครึ่งปีหลังกำลังซื้อไม่มา

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกกล่าวว่า จากการที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการหลาย ๆ ราย ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการค้าปลีก และซัพพลายเออร์ ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ภาพรวมของตลาดยังมีปัญหาใหญ่เรื่องกำลังซื้อค่อนข้างมาก ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้า รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่วนหนึ่งสะท้อนจากภาพของผู้ประกอบการที่ต้องมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง

“ตอนแรกหลาย ๆ คนมองว่า ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก แต่ตอนนี้เริ่มไม่ค่อยมั่นใจ และต้องเตรียมแผนต่าง ๆ เพื่อรองรับ เนื่องจากตอนนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยว ประกอบกับงบประมาณรายจ่ายของรัฐที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนออกมาช้ามาก หากไม่มีงบฯการลงทุนเข้ามาช่วยก็จะฟื้นตัวยาก กำลังซื้อก็มีปัญหาต่อไป

ล่าสุดจากที่ได้ติดตามสถานการณ์การจับจ่ายของผู้บริโภคก็เริ่มพบว่า กลุ่มผู้บริโภค A-B ที่มีรายได้สูง และไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ เริ่มมีความระวังในการใช้เงินมากขึ้น เน้นสินค้าที่ Value for Money มากขึ้น ส่วนกลุ่ม C-D ที่เดิมกำลังซื้อก็ไม่ดีอยู่แล้ว ก็จะยิ่งประหยัดและระวังการจับจ่ายมากขึ้น”

Scroll to Top