ธปท.รับมาตรการปรับชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต 5% เป็น 8% ทำหนี้เสีย-ค้างชำระเพิ่ม แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก เหตุลูกหนี้กลุ่มเปราบางรายได้ไม่ฟื้นตัว พบส่วนใหญ่เกิน 50% ถือบัตรเฉลี่ย 2-5 ใบ ลั่นติดตามใกล้ชิดเพื่อพิจารณาก่อนปรับขั้นต่ำเป็น 10% ในปี’68
วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีการปรับอัตราการชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต (Minimum Payment) จาก 5% เป็น 8% เป็นส่วนทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของบัตรเครดิตปรับเพิ่มขึ้นนั้น ว่าปัจจุบันหากดูตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลบัตรเครดิตในไตรมาสที่ 1/2567 อยู่ที่ 4.13% และสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2 หรือ SM) อยู่ที่ 5.25%
- จีนแบน 3 บริษัทสหรัฐ ห้ามทำการค้า ห้ามผู้บริหารเข้าประเทศ
- วิธีลงทะเบียนแอป ทางรัฐ ยืนยันตัวตน รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- ครม.ไฟเขียว เวนคืนที่ดิน สายไหม-คลองสามวา สร้างทางพิเศษส่วนต่อขยาย
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอล และ Stage 2 มาจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มเปราะบางที่มีรายได้ 1.5-2 หมื่นบาทต่อเดือนรายได้ไม่ฟื้นตัว และการปรับอัตราการชำระขั้นต่ำ จาก 5% เป็น 8% ซึ่งจากข้อมูลพบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ยังสามารถชำระได้ และสัดส่วนจ่ายขั้นต่ำมีสัดส่วนน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 อย่างไรก็ดี การปรับชำระขั้นต่ำอาจจะกระทบบางกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียและค้างชำระพบว่าเกินกว่า 50% จะถือบัตรเครดิตเฉลี่ยอยู่ที่ 2-5 ใบ
“เอ็นพีแอล และ Stage 2 ของบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งยอมรับว่ามาจากการปรับชำระขั้นต่ำ แต่ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ไม่ฟื้นตัว ซึ่งเรื่องนี้ ธปท.จะมีการมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด และมีเวลาพิจารณามาตรการก่อนที่จะปรับอัตราขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 10% ในปี 68”