ผู้บริหารแห่สมัครเรียน วปส. รุ่น 12 ทุบสถิติ ปลัดคลังฝากการบ้าน 4 เรื่อง

วปส.
ลวรณ แสงสนิท

ผู้บริหารแห่สมัครเรียนอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) รุ่นที่ 12 ของสำนักงาน คปภ. ทุบสถิติ 400 คน แต่รับได้แค่ 144 รายเท่านั้น ด้าน “ปลัดคลัง” ยกจุดแข็งหลักสูตร วปส. มุ่งเน้นเรื่องการบริหารความเสี่ยง จัดเป็นหลักสูตรแถวหน้าของประเทศไทย พร้อมฝากการบ้าน 4 เรื่องใหญ่ให้นักเรียนรุ่นนี้-ทำหน้าที่เป็น insurance ambassador เชื่อมั่นอุตฯประกันภัยเสาหลักเศรษฐกิจที่สำคัญ เบี้ยจ่อแตะ 1 ล้านล้านบาท ในอนาคตอันใกล้ ฟาก “มาดามแป้ง” ชี้ธุรกิจประกันทรงคุณค่า พิสูจน์แล้วจากเหตุ “สึนามิ-น้ำท่วมใหญ่-โควิด” เดินหน้าหนุนธุรกิจประกันเติบโตยั่งยืน-โปร่งใส-มีจริยธรรม

วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวเปิดงานในพิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) รุ่นที่ 12 ของสำนักงาน คปภ. ว่า วันนี้ในประเทศไทยมีหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงค่อนข้างมาก ในแต่ละหลักสูตรมีจุดแข็งแตกต่างกันออกไป บางหลักสูตรมุ่งเน้นเรื่องความมั่นคง เรื่องตลาดทุน เรื่องพลังงาน และเรื่องกฎหมาย

สำหรับหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) ของสำนักงาน คปภ. ตนเองได้ติดตามมาตั้งแต่รุ่นที่ 1 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีหลักสูตรไหนเลยที่มุ่งเน้นเรื่องการบริหารความเสี่ยง ซึ่งจริง ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับทุกองค์กร ที่ผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชนไม่สามารถละเลยได้ จึงถือเป็นจุดแข็งของหลักสูตร วปส.

”ต้องยอมรับว่าจากรุ่นที่ 1 มาจนถึงรุ่นที่ 12 เราได้เห็นพัฒนาการของ วปส. มาอย่างต่อเนื่อง เราเห็นภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นของอุตสาหกรรมประกันภัยของประเทศไทย และวันนี้หลักสูตร วปส. จัดอยู่ในระดับแถวหน้าของประเทศไทย ดังนั้นอยากให้ผู้เรียนหลักสูตรรุ่นที่ 12 ทั้งหมด 144 ราย ทำหน้าที่เป็น insurance ambassador ที่มีความเข้าใจการประกันภัยในทุกมิติ และสามารถถ่ายทอดไปยังกลุ่มคนอื่น ๆ ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งเชื่อว่ามีศักยภาพเพราะเป็นผู้บริหารระดับสูงในแต่ละองค์กรอยู่แล้ว“

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า ทั้งนี้อยากจะฝากการบ้าน 4 เรื่อง แก่นักเรียนหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 12 ในช่วงอบรมระยะเวลา 6 เดือนต่อจากนี้ เกี่ยวกับความท้าทายในการบริหารความเสี่ยง เพราะโลกใบนี้มีความเสี่ยงหลงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ

Advertisment

1.การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ ที่มีลักษณะเป็นพลวัตร คือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และคาดการณ์ได้ยาก รูปแบบการค้า การลงทุน ในวันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นเป็น pattern เหมือนเดิม การเกิดอะไรขึ้นในประเทศหนึ่ง มีลผต่อประเทศอื่นในโลกรวมถึงประเทศไทย

“วันนี้ทำไมเราถึงต้องเฝ้าว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งที่เป็นเรื่องของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่มีผลกระทบทั้งโลก และกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน จึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม โดยไม่สามารถคาดหวังว่าจะเกิดอะไรขึ้น และจะกระทบต่อไทยมากแค่ไหน รวมทั้งเรื่องความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ที่อยู่คู่กับการทำธุรกิจ มีความผันผวนไม่สามารถคาดการณ์ได้ ดังนั้นการบริหารจัดการความเสี่ยง และการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือความเสี่ยงเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการไว้ได้“

2.ความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ สิ่งนี้คิดว่าเกิดมาและคิดว่าจะจบเร็ว แต่ไม่ได้เร็วอย่างที่คิด ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน รัสเซียกับยูเครน และสงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อการบริหารจัดการความเสี่ยง

”การค้าในโลกนี้เกิดขึ้นที่ไหน มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อทุก ๆ ประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของซัพพลายเชนในการค้าของโลก เราหลีกเลี่ยงในการจัดการความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นขึ้นอยู่ว่าจะใช้เครื่องมืออะไรในการจัดการความเสี่ยง“

Advertisment

ยกตัวอย่าง ย้อนกลับไปเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว พูดถึงเร่องการค้าเสรีหรือการไม่มีการกีดกันทางการค้าในโลกนี้ แต่ปัจจุบันกลับมาสู่การกีดกันทางการค้าอีกรอบ เช่น รถอีวีของจีน ซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าตลาดของรถยนต์อีวีของโลก ซึ่งคงเห็นการแบนที่ชัดเจนขึ้นในฝั่งยุโรปและอเมริกา ถือเป็นสงครามตัวแทนแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีจุดเริ่มมาจากความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ก็ได้ ส่งผลถึงการค้าและการลงทุน และการดำเนินธุรกิจของพวกเราด้วย

3.การเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องที่คิดว่ามีความสำคัญที่สุด วันนี้เทคโนโลยีก้าวข้ามจากยุคอะนาล็อก มาสู่ ยุคดิจิทัล อย่างสมบูรณ์ และวันนี้เศรษฐกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทุกเรื่องของปรับตัวไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงาน ผลิตภัณฑ์ และช่องทางในการทำธุรกิจ

“วันนี้คงเห็นการนำข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้วิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของคนมากขึ้น และเอไอมีความฉลาดมาก ในอนาคตจะฉลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ จะมีความสามารถในการพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ จึงเป็นความท้าทายนึง ในมุมของสำนักงาน คปภ. คงมอนิเตอร์และพัฒนากรมธรรม์ที่จะออกมาในอนาคต ซึ่งอาจใช้เอไอมาช่วยวิเคราะห์เพื่อเข้าใจผู้เอาประกันรายบุคคลได้มากขึ้น เช่น ถ้ามีความเสี่ยงมากก็จะต้องจ่ายเบี้ยแพง แต่ถ้าเสี่ยงต่ำจะจ่ายเบี้ยถูกลง“

4.การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ในขณะที่ปีนี้ประเทศไทยอากาศร้อนมาก ก็ได้เห็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ในดูไบ และในโตเกียวช่วง 1 เดือน มีทั้งลมร้อน ฝนตก และหิมะตก จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ไกลตัวเราอีกแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องของ ESG ทุกองค์รต้องให้ความสำคัญ หันกลับมาดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมแอย่างจริงจัง และเชื่อว่าบทบาท คปภ. ในฐานะที่มีเครื่องมือประกันภัย จะช่วยเรื่อง ESG ได้อีกมาก

”วันนี้เครื่องมือการประกันภัย เป็นอีกหนึ่งเสาหลักของเศรษฐกิจที่สำคัญ และยังมีอนาคตที่จะเติบโตไปได้อีกมาก โดยข้อมูลเบี้ยประกันภัยปี 2566 ถือว่าเห็นการเติบโตที่ดีจากที่ผ่านช่วงโควิดมาแล้ว โดยธุรกิจประกันชีวิตเติบโต 3.92% ธุรกิจประกันวินาศภัยโต 5.16% ทั้งอุตสาหกรรมมีเบี้ยประกันภัยรับอยู่ที่ 918,000 ล้านบาท และเชื่อว่าจะเห็นเบี้ยรับรวมแตะระดับ 1 ล้านล้านบาท ในอนาคตอันใกล้ได้“ ปลัดคลัง กล่าว

ขณะเดียวกันกฎหมายของ คปภ. อาจถึงเวลาที่ต้องกลับมามาทบทวนหรือปรับปรุงให้มีความทันสมัยเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้ฝากการบ้านกับสำนักงาน คปภ. ไปเรียบร้อยแล้ว

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ สำนักงาน คปภ. กล่าวว่า หลักสูตร วปส. ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก เห็นได้จากมีผู้สมัครเข้าเรียนรุ่นที่ 12 กว่า 300-400 ราย แต่สามารถรับได้เพียง 144 รายเท่านั้น ขอให้ผู้บริหารทุกคนอดทนรอไปเรียนรุ่นต่อไป ๆ ทั้งนี้หลักสูตร วปส. จาก 11 รุ่น ที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้าเรียนเพียง 90 คน

“ผู้ที่สมัครเข้าเรียนมีทั้งผู้บริหารที่มาจากธุรกิจประกันภัย ข้าราชการ และจากธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการขยายความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก” นายชูฉัตรกล่าว

มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันภัย (MTI) ในฐานะนักเรียนหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 1 กล่าวเสริมว่า ตนเองเป็นเพื่อนเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ รุ่นเดียวกับเลขาธิการ คปภ. (ชูฉัตร ประมูลผล) และในวันนี้ได้รับเกียรติให้มาร่วมงาน โดยจากการได้ฟังปลัดคลังพูดบนเวที รู้สึกโดนใจมาก ในฐานะคนประกันภัยอย่างแท้จริง ส่วนตัวเชื่อว่าธุรกิจประกันเป็นหนึ่งในเสาหลักที่ช่วยเยียวยาเวลาเกิดภัยหรือเวลาเกิดสิ่งที่เราไม่คาดคิดเกิดขึ้น

ตนเองอยู่ในธุรกิจประกันภัยมาร่วม 20 ปี ผ่านเหตการณ์ไม่คาดฝันมามากมาย เช่น สึนามิ, น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จนกระทั่งเหตุการณ์โควิด แต่ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้คนประกันภัยทั้งภาครัฐและเอกชนตระหนักเสมอว่า หน้าที่และหนี้สินที่มีต่อผู้เอาประกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์จะได้รับการช่วยเหลือ และดูแลอย่างถูกต้อง

“สิ่งที่สำคัญธุรกิจประกันจะทรงคุณค่าก็ต่อเมื่อเกิดเหตุ เราไม่ได้รับประกันแล้วจบในวันนั้น แต่คนจะเห็นคุณค่าเมื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดฝัน ดังนั้นหวังว่านักเรียนในหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 12 จะช่วยกันทำให้ธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นเสาหลักหนึ่งของทุกคน และธุรกิจประกันภัยจะต้องเต็มไปด้วยความโปร่งใสและมีจริยธรรม” มาดามแป้งกล่าว

Scroll to Top