เตือน 30 จังหวัดระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำหลาก จากฝนชุก 22-26 พ.ค.นี้

น้ำท่วม

สทนช.ประกาศฉบับใหม่ เตือน 30 จังหวัดเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก จากฝนตกชุก 22-26 พฤษภาคม 2567

วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ออกประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 4/2567 วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก เพิ่มเติม ระบุว่า สทนช.ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี

พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทันเพิ่มเติม ในช่วงวันที่ 22-26 พฤษภาคม 2567 ดังนี้

ภาคเหนือ

  • จังหวัดเชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย แม่สรวย พาน เทิง เชียงของ และเวียงป่าเป้า)
  • จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอแม่อาย เชียงดาว สะเมิง แม่วาง และแม่ริม)
  • จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอปาย แม่ลาน้อย และขุนยวม)
  • จังหวัดลำปาง (อำเภอวังเหนือ เมืองปาน แจ้ห่ม และงาว)
  • จังหวัดลำพูน (แม่ทา บ้านโฮ่ง และลี้)
  • จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ฟากท่า และท่าปลา)
  • จังหวัดตาก (อำเภอเมืองตาก แม่สอด และอุ้มผาง)
  • จังหวัดน่าน (อำเภอเมืองน่าน แม่จริม และเวียงสา)
  • จังหวัดแพร่ (อำเภอเมืองแพร่ สอง ร้องกวาง สูงเม่น และเด่นชัย)
  • จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ และเนินมะปราง)
  • จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มเก่า)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

Advertisment

  • จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย และโพนพิสัย)
  • จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอบุ่งคล้า เซกา และบึงโขงหลง)
  • จังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม และศรีสงคราม)
  • จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอเมืองชัยภูมิ คอนสาร หนองบัวแดง และเทพสถิต)
  • จังหวัดมหาสารคาม (อำเภอชื่นชม เชียงยืน และโกสุมพิสัย)
  • จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเมืองร้อยเอ็ด ธวัชบุรี โพนทอง และเสลภูมิ)
  • จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอสังขะ)
  • จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอขุขันธ์ และขุนหาญ)
  • จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอน้ำยืน และศรีเมืองใหม่)

ภาคตะวันตก

  • จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอเมืองกาญจนบุรี สังขละบุรี ทองผาภูมิ ศรีสวัสดิ์ ไทรโยค และด่านมะขามเตี้ย)
  • จังหวัดราชบุรี (อำเภอสวนผึ้ง และบ้านคา)
  • จังหวัดเพชรบุรี (อำเภอแก่งกระจาน และหนองหญ้าปล้อง)
  • จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอหัวหิน และปราณบุรี)

ภาคใต้

  • จังหวัดชุมพร (อำเภอสวี และหลังสวน)
  • จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอสมุย ดอนสัก และกาญจนดิษฐ์)
  • จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอขนอม สิชล และนบพิตำ)
  • จังหวัดสงขลา (อำเภอสะบ้าย้อย)
  • จังหวัดยะลา (อำเภอยะหา และรามัน)
  • จังหวัดนราธิวาส (อำเภอเจาะไอร้อง สุไหงปาดี สุไหงโก-ลก และแว้ง)

พร้อมกันนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ดังนี้

  1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังระบายไม่ทัน
  2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
  3. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

ก่อนหน้านี้ สทนช.ได้ออกประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ในช่วงวันที่ 18-25 พฤษภาคม 2567 จากการติดตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบัน ประเทศเมียนมา และมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น จะทำให้ด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมาก

Advertisment

Scroll to Top