คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ
ภาพรวมการส่งออกสินค้าไปยังตลาดญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ไม่ค่อยสดใสนัก ตัวเลขรวมยังติดลบอยู่ 5.03% มูลค่า 2 แสนล้านบาท แต่ตลาดญี่ปุ่นนับได้ว่าเป็นในกลุ่ม “ตลาดส่งออกหลัก” ที่ช่วยขับเคลื่อนสร้างรายได้มาให้ไทยอย่างยาวนาน ครองส่วนแบ่งการส่งออกถึง 8.29%
เหตุผลสำคัญที่ทำให้การส่งออกซึมคงไม่ต่างจากตลาดอื่นคือ เศรษฐกิจไม่ดี ญี่ปุ่นเองต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวมาจุนเจือเศรษฐกิจของประเทศ ไทยเปิดฟรีวีซ่า ประกอบกับค่าเงินเยนอ่อนค่าทำให้รายได้ท่องเที่ยวคึกคักมากขึ้น
- จีนแบน 3 บริษัทสหรัฐ ห้ามทำการค้า ห้ามผู้บริหารเข้าประเทศ
- เจ้าสัววิเชียร เตชะไพบูลย์ แลนด์มาร์ก 4 ไร่พันล้าน “สาทร” ศาลเจ้าใหม่ “ไต้ฮงกง”
- วิธีลงทะเบียนแอป ทางรัฐ ยืนยันตัวตน รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
กลยุทธ์การทำตลาดสินค้าตามแนวทางส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของกระทรวงพาณิชย์ ถือว่าเป็นจุดแข็งในการส่งสินค้าไทยไปจับกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่น เรียกว่า “ทำถึง”
ล่าสุดการนำคณะเดินทางไปเยือนกรุงโตเกียว ล่าสุด “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ทำในวันนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เห็นผลทันที แต่เป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” จึงนำคณะจัด “อินสโตร์โปรโมชั่น” และไปร่วมกับห้างค้าปลีกชื่อดัง 3 ห้าง คือ BEISIA CALDI และ MUJI โดยยังมองว่าสินค้าไทยยังมีโอกาสอีกมาก โดยเฉพาะอาหาร ผลไม้ อาหารสัตว์ ไลฟ์สไตล์
MUJI สาขาที่เลือกไปจัดโปรโมชั่น คือ สาขากินซ่า ซึ่งเป็นสาขาที่ขายดีที่สุดของ MUJI โมเดลธุรกิจของมูจิสาขานี้ ไม่เพียงจะเป็นร้านค้าปลีกสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์เท่านั้น แต่สาขานี้เป็นสาขานำร่องที่มีการแบ่งพื้นที่สำหรับทำร้านอาหาร และมีโรงแรมมูจิแห่งแรกด้วย และเป็นสาขาที่ขายดีที่สุด
ความน่าสนใจ คือ MUJI ให้เชฟชาวญี่ปุ่นมาเรียนทำอาหารกับเชฟไทย แล้วจัดช่วงโปรโมชั่นอาหารไทย 3 เมนู คือ ข้าวมันไก่ ผัดซีอิ๊ว และขนมปังหน้าหมู ซึ่งไม่ใช่เพียงทำได้เหมือนกับต้นตำรับเฉพาะหน้าตา แต่ “สีสัน รสชาติ” เรียกว่าอาหารไทยจริง ๆ ที่อร่อยกว่าบางร้านเลยก็ว่าได้
เชฟญี่ปุ่นแอบกระซิบบอกว่า ร้านอาหาร MUJI เป็นสไตล์อาหารอิตาเลียน ที่คนมาทานในโอกาสพิเศษ ๆ ซึ่งเขาแปลกใจมากที่คนญี่ปุ่นรู้จักและเลือกทานอาหารไทยถึง 80% เซตเมนูกำหนดที่ 2,000 เยน หรือประมาณ 5,000 บาท จัดทำวันแรก 60 เซต มีเมนคอร์สคือ ข้าวมันไก่+ขนมปังหน้าหมู และซุป อีกชุดเป็น ผัดซีอิ๊ว+ขนมปังหน้าหมู และซุป โดยจัดเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างที่พอหาได้ในญี่ปุ่น “ขายหมดเกลี้ยง”
MUJI และไทยมองเห็นภาพเดียวกัน คือ การส่งเสริม “ซอฟต์พาวเวอร์” เขาจึงรับสินค้าอาหารสำเร็จรูป และสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะ “ผ้าไทย” เข้าไปจัดทำมุมจำหน่าย ตามโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”
ถัดมาคือ ห้าง BEISIA ที่ลักษณะจะเหมือน “โลตัส” เต็มไปด้วยสินค้าอุปโคบริโภคจากทั่วโลกทั้งญี่ปุ่นและอาเซียน มีสาขามากกว่า 130 แห่งทั่วญี่ปุ่น
ซึ่งการจัดทำกิจกรรมครั้งนี้ ไทยชูสินค้าผลไม้เข้าไปปักหมุดในญี่ปุ่น พระเอกคือ “กล้วยหอม” ซึ่งหากเข้าไปเดินสำรวจจะพบว่านอกจากกล้วยหอมของไทยแล้ว ยังมีกล้วยหอมจากฟิลิปปินส์เข้าไปด้วย
สิ่งที่ไทยสำคัญ คือ ไทยได้นำนวัตกรรมที่มาช่วยให้คงคุณภาพความสดของกล้วยหอม ทำให้แม้ว่าจะผ่านการขนส่งหลายวัน แต่สภาพกล้วยหอมยังสีเหลืองสวยงามน่ารับประทาน
ที่สำคัญคือการแปรรูปกล้วยหอมไทยไปเป็นวัตถุดิบผสมกับนมฮอกไกโดที่มีรสชาติหวานหอม บวกเนื้อสัมผัสของกล้วยหอมยิ่งทำให้คนญี่ปุ่นที่นิยมบริโภคกล้วยหอมอยู่แล้วนิยมชมชอบ
นอกจาก BEISIA แล้ว “ภูมิธรรม” ยังเจรจาเตรียมเปิดตลาดสินค้าไทยกับห้าง CALDI ซึ่งมีเกือบ 300 สาขา เพื่อดึง “ทีมจัดซื้อ” เข้ามาเยือนงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2024 ในเดือนหน้า เพื่อเลือกซื้อสินค้าด้วยตัวเอง
“ภูษิต เสรีเรืองฤทธิ์” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เล่าว่า ปีนี้ตลาดญี่ปุ่นมีโอกาสจะเติบโตกลับมาได้ 1% จากปีก่อนที่มีการเติบโต 0.05%
สอดคล้องกับมุมมองนายภูมิธรรมที่มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้น ต้องยอมรับว่าเราและญี่ปุ่นต่างประสบปัญหาความผันผวนเหมือนกันทั้งโลก เราเจอโรคอุบัติใหม่โควิดเข้ามาก็กระทบกระเทือน แต่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีศักยภาพน่าจะปรับตัวได้เร็ว แต่เราไม่ต้องรอเขาฟื้นหมด ขณะที่เขากำลังฟื้นตัวก็จำเป็น และก็เป็นโอกาสและช่องทางใหม่ ๆ ให้เราเข้ามา
“การทำตลาดในวันนี้ ปริมาณส่งออกหรือมูลค่าการส่งออกอาจจะยังไม่ได้สำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้คนญี่ปุ่นให้ความสนใจ เข้าใจ และต้องตาต้องใจสินค้าไทย เราจึงบอกทุกคนว่าทำให้มีคุณภาพ ไม่ต้องไปเร่ง เรื่องผลไม้ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีมาตรฐาน เราก็ต้องทำให้ได้มาตรฐาน ซึ่งอันนี้ไม่ได้เป็นข้อจำกัด เราต้องทำให้สินค้าไทยมีคุณภาพสูงขึ้นด้วย ให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับโลก นั่นคือสิ่งที่สำคัญ”