เริ่มงานวันแรก CEO ปตท. “คงกระพัน อินทรแจ้ง” 13 พ.ค. 67

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง

วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 นับเป็นวันแรก “ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ” CEO ปตท. คนที่ 11″ พร้อมขับเคลื่อน ปตท. ด้วยวิสัยทัศน์  “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน”

โดยการสร้างความแข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และการสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ต้องอยู่บนพื้นฐานหลักการของ “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีหลังจากที่นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ครบวาระไปเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

เปิด 3 วิสัยทัศน์ CEO ปตท. คนที่ 11

ดร.คงกระพัน เปิดเผยแนวคิดการบริหารธุรกิจ ประกอบด้วย “บริหารธุรกิจแบบยั่งยืนในทุกมิติ” การที่องค์กรจะดำเนินไปได้ ธุรกิจต้องมีกำไร แต่เป็นกำไรที่เหมาะสมและยั่งยืน ไม่เน้นกำไรระยะสั้น ธุรกิจต้องเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ช่วยสังคมไทย SME และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

“การลงทุนต้องเกิดประโยชน์ทั้งกับองค์กรและประเทศ” จากสถานการณ์โลกที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปตท. ต้องมีความคล่องตัว มี Agility ธุรกิจใดที่ดี ต้องเร่งต่อยอดขยายผล แต่หากธุรกิจใดที่เคยดี หรือไม่ perform แล้ว ก็ต้องมีความกล้าที่ออกจากธุรกิจอย่างชาญฉลาดและรวดเร็ว

“สร้างความเชื่อมั่นให้ทุกภาคส่วน” การทำธุรกิจและการบริหารจัดการต้องโปร่งใส ทำเรื่องบรรษัทภิบาลอย่างจริงจัง สิ่งสำคัญมาก ๆ คือ “บุคลากร” ปตท. มีบุคลากรที่เก่ง มีความรู้ความสามารถ ต้องสร้างพลังให้เกิดความร่วมมือ พาองค์กรก้าวผ่านทุกความท้าทาย ต้องทำให้  “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ดร.คงกระพัน

Advertisment

เรียงไทม์ไลน์จะได้นั่ง CEO ปตท.

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) ประกาศเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อรับการคัดเลือกเข้าดํารงตําแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผ้จัดการใหญ่ ต่อจากนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ครบวาระ 4 ปีในเดือนพฤษภาคมนี้  ซึ่งได้เปิดให้ยื่นใบสมัครตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 มาจนถึงวันที่ 3 มกราคม 2567 เป็นวันสุดท้าย 17.30 น

หลังจากการพิจารณาคุณสมบัติครบถ้วน จะมีการเรียกสัมภาษณ์ผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นวันที่ 17 มกราคม 2567 โดยรายชื่อผู้สมัครมีจำนวน 5 ราย ซึ่งต่างมีคุณสมบัติและถือว่าเป็นลูกหม้อของ บมจ. ปตท.

โดยวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พิจารณาผลการคัดเลือกประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  (ซีอีโอ) บมจ.ปตท. คนที่ 11 ซึ่งคือ นายคงกระพันก็ได้เฉือนเอาชนะอีก 4 ผู้สมัครได้และเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 13 พฤษภาคม 2567

ภารกิจงบลงทุนกว่า 89,203 ล้านบาท

บมจ. ปตท. ดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต ควบคู่กับการสร้างเสถียรภาพทางพลังงานให้ประเทศไทยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

Advertisment

โดยภารกิจสำคัญนั่นคือ การดำเนินธุรกิจภายใต้เงินลงทุน 89,203 ล้านบาทตามแผน 5 ปี (2567-2571) จะถูกแบ่งออกไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 30,636 ล้านบาท หรือ 34% ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 14,934 ล้านบาท หรือ 17% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 12,789 ล้านบาท หรือ 14% ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,022 ล้านบาท หรือ 4% บริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% อีก 27,822 ล้านบาท หรือ 31%

เงินลงทุนสำหรับปี 2567 ประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท โดยจะใช้เพื่อเดินหน้า 8 โครงการ ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มธุรกิจหลัก (Core Businesses) อาทิ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดเแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 หลังจากที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์มากว่า 30 ปี  โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8 และโครงการท่อส่งก๊าซบางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้

รวมถึงท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 อีกทั้งยังมีโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 ซึ่งปัจจุบันเตรียมดำเนินการเชิงพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2567 ด้วยระยะทางกว่า 417 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีโครงการในอุตสาหกรรมใหม่อย่างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทลูกอย่างบริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ซึ่งได้เริ่มเดินเครื่องประกอบแบตเตอรี่ Cell-To-Pack ก้อนแรกเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 แล้วและคาดว่าจะเริ่มทำการตลาดในปี 2567 และโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ประวัติโดยคร่าว CEO ปตท.

ประวัติ นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ชื่อเล่น เอ้ ปัจจุบัน อายุ 55 ปี สถานะ โสด เป็นกรรมการ (กรรมการที่เป็นผู้บริหาร), เลขานุการคณะกรรมการ, กรรมการบริหารความเสี่ยง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

คุณวุฒิการศึกษา / ประวัติการอบรม

  • Doctor of Philosophy (Ph.D.) in Chemical Engineering, University of Houston, U.S.A.
  • วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมเคมี) (เกียรตินิยมอันดับสอง), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • หลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
  • หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 30 (วตท. 30), สถาบันวิทยาการตลาดทุน
  • หลักสูตร Leadership Development Program (LDP 3) รุ่นที่ 4, สถาบันพัฒนาผู้นำและการเรียนรู้ กลุ่ม ปตท. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน รุ่นที่ 14 (วพน. 14), สถาบันวิทยาการพลังงาน
  • หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (ปริญญาบัตร วปอ.) รุ่นที่ 60, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
  • หลักสูตร Breakthrough Program for Senior Executives, IMD Business School

การดำรงตำแหน่งกรรมการ / ผู้บริหารในบริษัท

ส่วนการดำรงตำแหน่งกรรมการ / ผู้บริหารในกิจการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย

  • 21 ต.ค. 2563-ปัจจุบัน ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน)
  • 1 ต.ค. 2562-ปัจจุบัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประจำประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  • 1 ต.ค. 2562-ปัจจุบัน กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ, กรรมการบริหารความเสี่ยง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
  • 15 ส.ค. 2562-ปัจจุบัน กรรมการ และกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)

การดำรงตำแหน่งกรรมการ / ผู้บริหารในกิจการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

  • 29 ธ.ค. 2564-ปัจจุบัน ประธานคณะที่ปรึกษา บริษัท PTTGC International (Netherlands) B.V. สำหรับเรื่องธุรกิจและการลงทุนในบริษัท Allnex
  • 8 ธ.ค. 2564-ปัจจุบัน ประธานกรรมการ บริษัท PTTGC International (Netherlands) B.V.
  • 1 ก.ย. 2563-ปัจจุบัน ประธานกรรมการ บริษัท PTTGC International Private Limited

สามารถอ่านประวัติแบบเต็มได้ ที่นี่

Scroll to Top