นภินทร รมช.พาณิชย์ นำทีมพาณิชย์ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ลุยแหล่งเพาะปลูก GI น้องใหม่ “กล้วยหอมทองเพชรบุรี” พร้อมมอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน GI มั่นใจช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม นำรายได้สู่เกษตรกรกล้วยหอมทองเพชรบุรี คาดสร้างรายได้กว่า 580 ล้านบาทต่อปี
วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีในครั้งนี้ ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการกล้วยหอมทองเพชรบุรี พร้อมมอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน GI กล้วยหอมทองเพชรบุรีให้กับกลุ่มเกษตรกรกล้วยหอมทองเพชรบุรี ซึ่งเป็นสินค้า GI ลำดับที่ 5 ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียนตัวล่าสุดของจังหวัดเพชรบุรีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
- จีนแบน 3 บริษัทสหรัฐ ห้ามทำการค้า ห้ามผู้บริหารเข้าประเทศ
- วิธีลงทะเบียนแอป ทางรัฐ ยืนยันตัวตน รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- เปิด 20 อันดับโรงพยาบาลดีที่สุดในไทย ปี 2567
สำหรับลักษณะเด่นของกล้วยหอมทองเปลือกบาง เนื้อกลัวยมีสีครีมถึงเหลืองอ่อน ไร้เมล็ด เนื้อเนียนละเอียด ละมุน นุ่มฟู ไส้ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวาน จึงทำให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการกว่า 580 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังได้รับความนิยมในตลาดญี่ปุ่นซึ่งมีการส่งออกกว่า 7,100 ตันต่อปี และเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ
หลังจากมอบประกาศขึ้นทะเบียน GI ให้กับกล้วยหอมทองเพชรบุรีแล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ยังคงเดินหน้าส่งเสริมผู้ผลิตและผู้ประกอบการกล้วยหอมทองเพชรบุรีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสนับสนุนการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าตามมาตรฐาน GI เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค การส่งเสริมการตลาดให้กับกล้วยหอมทองเพชรบุรี
อีกทั้งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า การขยายช่องทางการตลาดทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อทางโอกาสทางการค้าให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการกล้วยหอมทองของเพชรบุรีให้เพิ่มขึ้น และการผลักดันให้กล้วยหอมทองเพชรบุรีขึ้นทะเบียน GI ในประเทศญี่ปุ่นต่อไป
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัตลักษณ์ชุมชนผลักดันการขึ้นทะเบียนสินค้า GI และการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน ตลอดจนมีการส่งเสริมและขยายช่องทางการตลาดให้กับสินค้า GI ไทย และด้วยสินค้า GI มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่แหล่งผลิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งผลให้สินค้ามีอัตลักษณ์เฉพาะตัว จึงทำให้สินค้า GI เป็นสินค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาลด้วย
โดยปัจจุบันมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ทั่วประเทศแล้ว 203 สินค้า มูลค่ากว่า 71,000 ล้านบาทต่อปี สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการในชุมชน นำมาสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรหรือชุมชนท้องถิ่น ในจังหวัดใดสนใจนำสินค้าชุมชนที่มีอัตลักษณ์และเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ สามารถนำมาปรึกษาเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียน GI ให้ที่ ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร.1368