กระทรวงเกษตรฯ ปลดล็อกการนำเข้าโคเนื้อ-กระบือจากประเทศเมียนมา

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

กระทรวงเกษตรฯ ปลดล็อกการนำเข้าโคเนื้อ-กระบือจากประเทศเมียนมา ย้ำชัดต้องมีการขึ้นทะเบียนอย่างชัดเจน ภายใต้มาตรการควบคุมที่เข้มงวด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่าย พร้อมเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาโคเนื้อตกต่ำ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้ออย่างยั่งยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาโคเนื้อ-กระบือ และผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (Beef Board) ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 67 โดยมีนายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ที่ประชุมได้พิจารณาปลดล็อกการนำเข้าโคเนื้อ-กระบือจากประเทศเมียนมา ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านการรักษาตลาดการบริโภคเนื้อโค-กระบือ และผลิตภัณฑ์ ได้มีการจัดประชุมเพื่อศึกษาข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างรอบด้าน ทั้งในเรื่องปริมาณโคเนื้อ ราคาจำหน่ายโคเนื้อ ปริมาณการนำเข้าส่งออกโคเนื้อ ข้อมูลการจับกุมโคเนื้อที่ลักลอบนำเข้าประเทศ ที่สำคัญต้องไม่กระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในประเทศ

กระทรวงเกษตรฯ

ทั้งยังหารือถึงศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้มงวดกวดขันเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่กำหนด ทั้งในเรื่องขั้นตอนการนำเข้าและการเคลื่อนย้าย การติดหมายเลขประจำตัวสัตว์ การฉีดวัคซีน การตรวจโรค การตรวจสารเร่งเนื้อแดง การขึ้นทะเบียนผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง การกำหนดโควตาการนำเข้าและส่งออกให้ชัดเจน มีการขึ้นทะเบียนคอกโคขุนที่ชัดเจน

Advertisment

โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการในการตรวจประเมินผลเพื่อติดตามผลการดำเนินงาน และใช้เป็นข้อมูลทบทวนมาตรการการปลดล็อกในครั้งนี้

นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาโคเนื้อตกต่ำ ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการรักษาตลาดการบริโภคเนื้อโค-กระบือ นำเสนอมาตรการส่งเสริมการตลาดและการแก้ปัญหาราคาโคเนื้อตกต่ำ คือ 1) มาตรการการแก้ไขการใช้สารเร่งเนื้อแดงตลอดห่วงโซ่การผลิต 2) มาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าโคเนื้อ เนื้อโค กระบือ และเนื้อกระบือ 3) มาตรการผลักดันการใช้เครื่องหมายประจำตัวสัตว์ประเภทเบอร์หู (NID) เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสินค้าโคเนื้อ กระบือ ทั้งระบบ

และ 4) มาตรการส่งเสริมการตลาด เพื่อเพิ่มปริมาณการบริโภคและสร้างความสามารถในการแข่งขันเนื้อโคในทุกตลาด และ 5) มาตรการในการนำเข้าและส่งออกโคเนื้อ-กระบือ มีชีวิต รวมทั้งเนื้อโค-เนื้อกระบือ อีกทั้งยังเห็นชอบแผนการสร้างความมั่นคงด้านอาหารโคเนื้อ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิตโคเนื้ออีกด้วย

Scroll to Top