เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ออกมาขยายตัวที่ 1.5% ต่อปี ตามรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขณะที่ภาพรวมทั้งปี 2567 “สภาพัฒน์” ได้ปรับประมาณการลดลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตที่ 2-3% ต่อปี (ค่ากลาง 2.5%) จากเดิมคาดการณ์ที่ 2.2-3.3% (ค่ากลาง 2.7%)
Contents
เศรษฐกิจ Q1 ฟื้น-โต 1.5%
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ขยายตัว 1.5% ต่อปี โดยมีแรงส่งสำคัญจากการบริโภคภายในประเทศขยายตัวได้ 6.9% และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้สูงที่ 24.8% ด้านการลงทุนรวมหดตัว 4.2% โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่หดตัวถึง 27.7% จากงบประมาณปี 2567 ที่ยังไม่ได้ประกาศใช้ในไตรมาสนี้ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 4.6% การส่งออกหดตัว 1% เนื่องจากเดือน มี.ค. ส่งออกหดตัวถึง 10% ขณะที่ภาคเกษตรหดตัว 3.5% จากสภาพอากาศที่ทำให้ผลผลิตลดลง
- จีนแบน 3 บริษัทสหรัฐ ห้ามทำการค้า ห้ามผู้บริหารเข้าประเทศ
- วิธีลงทะเบียนแอป ทางรัฐ ยืนยันตัวตน รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- ครม.ไฟเขียว เวนคืนที่ดิน สายไหม-คลองสามวา สร้างทางพิเศษส่วนต่อขยาย
“ตัวเลขการเติบโตที่ออกมา ถ้าเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QOQ) โดยเทียบไตรมาส 1 ปี 2567 กับไตรมาส 4 ปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.1% เพิ่มขึ้นจากที่ไตรมาส 4 ปี 2566 เทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 ที่หดตัวไป 0.4% ก็เป็นเรื่องที่ดีที่เศรษฐกิจสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ในเชิงไตรมาสต่อไตรมาส”
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.01% ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ที่อยู่ที่ 0.81% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.8% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่ 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ
หั่นจีดีพีปี’67 โตแค่ 2.5%
สำหรับเศรษฐกิจปี 2567 สศช.ได้ปรับประมาณการใหม่ โดยคาดว่า GDP ปีนี้จะขยายตัว 2.5% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 2.0-3.0%) จากสมมุติฐานที่ว่า มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน จะทำให้ปริมาณการค้าโลกจะขยายตัวลดลงอยู่ที่ 2.8% จากเดิมคาดที่ 3% อัตราแลกเปลี่ยนคาดที่ 35.5-36.5 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่ากว่าเดิมที่คาดที่ 34.3-35.3 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบยังมองที่ 80-90 ดอลลาร์/บาร์เรล จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดที่ 36.5 ล้านคน จากเดิมคาด 35 ล้านคน และรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะอยู่ที่ 1.38 ล้านล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่คาดที่ 1.22 ล้านล้านบาท
“จากสมมุติฐานเหล่านี้ และงบประมาณปี 2567 ที่ประกาศใช้แล้ว ซึ่งน่าจะมีการเร่งเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการอื่น ๆ ทางด้านการท่องเที่ยวและอื่น ๆ ที่รอดำเนินการในช่วงถัดไป ทำให้เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะอยู่ในช่วง 2-3% ค่ากลาง 2.5% ซึ่งปรับลดลงจาก 2.7% ในการประมาณการครั้งก่อน จากที่เราดูว่า ความเสี่ยงจากข้างนอกยังคงมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้าที่เริ่มแรงมากขึ้น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจการเงินโลก”
ดิจิทัลวอลเลตปลุก 0.25%
ทั้งนี้ การประมาณการเศรษฐกิจครั้งนี้ยังไม่รวมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต หากสามารถทำได้ตามเป้าหมาย คือเริ่มใช้จ่ายได้ในไตรมาส 4 ของปี 2567 จะทำให้ GDP ทั้งปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.25% จากที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 2.5% โดยบวกเพิ่มจากค่ากลางที่ประมาณการไว้ หรือจะทำให้ GDP ปีนี้ขยายตัวได้ 2.75%
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.25% เป็นการประเมินในกรณีที่มีการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเลตประมาณ 2 แสนล้านบาท จากวงเงินโครงการ 5 แสนล้านบาท โดยสาเหตุที่มองว่าโครงการดิจิทัลวอลเลตอาจมีการใช้จ่ายไม่เต็มวงเงินโครงการ 5 แสนล้านบาท ในปี 2567 เนื่องจากโครงการดิจิทัลวอลเลตจะเริ่มต้นใช้จ่ายได้ช่วงไตรมาส 4 และมีระยะเวลาการใช้จ่ายครั้งแรกประมาณ 6 เดือน ซึ่งจะยาวไปจนถึงต้นปี 2568 ขณะที่แหล่งเงินของโครงการบางส่วนอาจเริ่มใช้ได้ก่อน แต่บางส่วนยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ
“ประมาณการ GDP ปี 2567 ที่ 2.5% ยังไม่ได้รวมผลของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเลต ซึ่งเมื่อดูไทม์ไลน์โครงการจะเริ่มต้นใช้จ่ายในช่วงไตรมาสที่ 4 และจะมีผลไป 6 เดือน จึงคาดว่าเม็ดเงินใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงอาจจะไม่ได้ใช้จ่ายในไตรมาสที่ 4 ทีเดียวทั้ง 500,000 ล้านบาทก็ได้ เพราะอาจมีแหล่งเงินบางส่วนพร้อมแล้วและเริ่มทำก่อน ขณะที่ต้องรอแหล่งเงินบางส่วนที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน นอกจากนี้ยังต้องติดตามตัวสินค้าที่เข้าร่วมโครงการด้วย ดังนั้น คาดว่าในช่วงปลายปีจะมีเม็ดเงินจากโครงการลงสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้น GDP เพิ่มขึ้นได้อีก 0.25%”
3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย
โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ 1.ภาระหนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะสินเชื่อกลุ่มรถยนต์และเริ่มมีปัญหาสินเชื่อในภาคที่อยู่อาศัย ในขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อเป็นสภาพคล่องในการบริหารกิจการ ซึ่งธนาคารพาณิชย์หรือภาคการเงินจะต้องพิจารณาในมาตรการที่จะทำให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้น
2.ความเสี่ยงจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลผลิตภาคการเกษตร โดยอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง และในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจมีปัญหาอุทกภัยจากภาวะลานีญา
และ 3.ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์, ความเสี่ยงจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายที่ช้ากว่าที่คาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจหลักที่มีนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง, การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจจะเกิดขึ้น และความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของหลาย ๆ ประเทศในช่วงถัดไป โดยเฉพาะการที่สหรัฐใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน ซึ่งไทยจะต้องเฝ้าระวังเรื่องการทุ่มตลาด
ชงข้อเสนอแนะ 5 ข้อบริหารนโยบาย
สำหรับข้อเสนอแนะการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567 นั้น เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ควรให้ความสำคัญกับ 1.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณไม่น้อยกว่า 90% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด 2.การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ซึ่งยังมีความเสี่ยงจากภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจในระดับสูง 3.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร
4.การขับเคลื่อนการส่งออกควบคู่ไปกับการเร่งรัดปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ และ 5.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ต้องเฝ้าระวังการทุ่มตลาดของสินค้าจีน ที่อาจกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าไทย
“ผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่อการส่งออกไทยที่เราต้องเฝ้าระวัง คือ การทุ่มตลาด เพราะถ้าคู่ค้าส่งสินค้าเข้าไปสหรัฐไม่ได้ มีการกีดกัน สินค้าเหล่านั้นก็ต้องหาที่ไป ซึ่งก็เป็นตลาดในภูมิภาคนี้ และจะมีผลกระทบต่อผู้ผลิตเราด้วย อย่างในช่วงปี 2562 จะเห็นได้ว่ามีสินค้าที่ทะลักเข้ามา เช่น เหล็ก เป็นต้น ทั้งนี้ ถ้าดูในแง่มาตรการที่ออกมาในช่วงนี้ จะพุ่งเป้าไปที่สินค้าจีนเป็นหลัก ซึ่งในคราวที่แล้ว ตัวที่มีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า เราเองก็ได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่อันนี้คงต้องไปดูในรายละเอียดว่า แต่ละเรื่องที่ออกมามีผลกระทบต่อสินค้าไทยมากน้อยแค่ไหน”
แนะดูแล SMEs หนี้ครัวเรือนสูง
ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยควรจะปรับลดเมื่อใดนั้น เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ หากจะมีการปรับต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน
“ผมคิดว่านโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องไปคู่กัน ซึ่งเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณากันในหลาย ๆ มุม ถ้าเรามีการปรับไป ก็ต้องดูให้รอบคอบ เพราะไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อการไหลของอัตราแลกเปลี่ยน”
โดยสิ่งที่ควรดำเนินการในปัจจุบัน คือการช่วยลดภาระของผู้ประกอบการ SMEs และภาคครัวเรือน ขณะเดียวกันควรดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาลูกหนี้เรื้อรังที่มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงต้องช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ตลอดจนการสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs เตรียมความพร้อมในการเข้าถึงสินเชื่อ Digital Factoring เพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
“ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับกลุ่มเปราะบางประมาณ 0.25% ซึ่งมองว่าน่าจะช่วยลดภาระของประชาชนกลุ่มนี้ได้ แต่ส่วนที่เหลือก็ต้องระวัง เพราะหนี้ครัวเรือนก็ยังอยู่ในระดับสูง” เลขาธิการ สศช.กล่าว