จับตาร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน กมธ.อุตสาหกรรม-รัฐ ชงตั้ง “กองทุน” ระดมเงินเอกชน รับมือวิกฤตโรงงานทิ้งกากอุตสาหกรรม ลุ้นเรตเก็บ 20% ของทุนจดทะเบียน รายปี พร้อมแก้นิยามคุม “โรงงานพลุ” เพิ่มบทลงโทษอาญา-ปรับ เอาผิดโรงงานทิ้งกากอุตสาหกรรม ส.อ.ท.แบ่งรับแบ่งสู้เห็นชอบในหลักการ แต่หวั่นภาระหลักประกันกระทบต้นทุน เตรียมถก 46 อุตสาหกรรม
ปัญหาวิกฤตโรงงานอุตสาหกรรมที่ลักลอบขนย้ายกากขยะอุตสาหกรรม และสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายแบบไม่ถูกต้อง จนเกิดปมบานปลายไม่สามารถทำลาย เกิดเพลิงไหม้จนส่งมลพิษกระจายไปยังชุมชนโดยรอบ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นข่าวปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
- จีนแบน 3 บริษัทสหรัฐ ห้ามทำการค้า ห้ามผู้บริหารเข้าประเทศ
- เจ้าสัววิเชียร เตชะไพบูลย์ แลนด์มาร์ก 4 ไร่พันล้าน “สาทร” ศาลเจ้าใหม่ “ไต้ฮงกง”
- วิธีลงทะเบียนแอป ทางรัฐ ยืนยันตัวตน รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
เริ่มจากโรงงานพลุระเบิดที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อเดือนมกราคม 2567 เรื่อยมาจนถึงการพบสารแคดเมียมที่โรงงานใน จ.สมุทรสาคร จ.ชลบุรี และกรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายน 2567 และการเกิดเพลิงไหม้โรงงาน วิน โพรเสส จ.ระยอง และโรงงานเก็บสารเคมีที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา
นำมาสู่ประเด็นปัญหาการจัดการกับสารเคมีที่ตกค้างที่ยังไม่คืบหน้า จนกลายเป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถามว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรซึ่งแนวทางหนึ่งคือการเร่งแก้ไข “กฎหมาย” เพื่อบังคับใช้อย่างจริงจังในการกำกับดูแล
Contents
กมธ.อุตสาหกรรมลุยแล้ว
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เตรียมตั้งกองทุนอุตสาหกรรม และหลักประกันขึ้น โดยได้บรรจุไว้ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานที่อยู่ระหว่างการแก้ไข
เพื่อแก้ปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยกากของเสียจนส่งผลกระทบต่อชุมชนต่าง ๆ วัตถุประสงค์หลักของกองทุนนี้ตั้งขึ้นเพื่อป้องกัน ระงับ หรือบรรเทาเหตุเดือดร้อน อันตรายหรือความเสียหายที่อาจจะเกิดกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมจากโรงงานอุตสาหกรรม
“กองทุนนี้จะเรียกเก็บเงินจากโรงงานที่ก่อให้เกิดของเสีย กากขยะอุตสาหกรรม และโรงงานที่ทำเรื่องรีไซเคิล รับกำจัดกากอุตสาหกรรม ฝังกลบกากใน ประเภท 101, 105, 106 จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนด้วย ยกเว้นโรงงานที่ไม่มีกากอุตสาหกรรมที่ต้องกำจัดแต่ย่อยสลายได้ธรรมดา
โดยเงินที่เก็บสะสมไปในกองทุนนั้นจะมาจากภาคเอกชนเท่านั้น จะไม่มีการใช้งบประมาณจากรัฐ (จากเดิมมีระบุในมาตรา 44 (2) จะใช้เงินงบประมาณและเงินอุดหนุนจากรัฐ) กองทุนนี้จะสามารถแก้ไขหากเกิดมีปัญหาอย่างกรณีวิน โพรเสส ก็สามารถใช้เงินกองทุนในการดูแลได้เลย โดยไม่ต้องไปพึ่งงบประมาณแผ่นดิน”
นายอัครเดชกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กมธ.อุตสาหกรรมได้แบ่งการยื่นแก้ไขเป็น 2 ส่วน คือ การยื่นแก้ไขเฉพาะในส่วน “นิยาม” โดยจะขยายให้ครอบคลุม “โรงงานพลุ” ไว้ในนิยามด้วยหลังจากเกิดเหตุการณ์โรงงานพลุระเบิด
พร้อมกับเรื่องการเพิ่มบทลงโทษโรงงานอุตสาหกรรมที่ทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการเพิ่มโทษอาญา และโทษปรับด้วย จะเสนอโดยใช้ช่องทางสภาผู้แทนราษฎร จะอาศัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 20 คน ให้การรับรอง
ส่วนที่ 2 เรื่องการตั้งกองทุนนั้น กมธ.เตรียมจะยื่นในส่วนของ ร่าง พ.ร.บ.โรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หมวด 2/1 กองทุนอุตสาหกรรมและหลักประกัน ที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่อีกครั้งในช่วงเปิดสมัยประชุมรอบหน้า และด้วยเหตุที่จะนับเป็น พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน ประธานสภาผู้แทนฯต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีรับรอง ซึ่งจะใช้ระยะเวลานานกว่า จึงแบ่งส่วนนี้มายื่นทีหลังเพื่อเร่งให้กฎหมายไปได้เร็วขึ้น
กระทรวงอุตฯร่างประกาศรับ
สำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเก็บเงินเข้ากองทุน ในรายละเอียดนั้น กระทรวงอุตสาหกรรรม จะร่างประกาศกระทรวงออกมารองรับ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การเก็บเงินจากกองทุนว่าจะเก็บในอัตราเท่าไร อย่างไร
ส่วนการบริหารจัดการเงินกองทุน จะมีการตั้งคณะกรรมการกองทุนอุตสาหกรรมขึ้นมา 1 คณะ ประกอบไปด้วย กรรมการ 10 คน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือปลัดกระทรวง เป็นประธาน และมีกรรมการได้แก่ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมบัญชีกลาง
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น
นายอัครเดชย้ำว่า การเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนเป็นภาระเอกชนแน่นอน แต่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนจะเป็นภาระมากหรือน้อยให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งทางกระทรวงจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก่อน
และเงินกองทุนนี้จะใช้เวลาที่เกิดปัญหาเรื่องการกำจัดกากอุตสาหกรรม เพื่อจะได้ไม่มาเป็นปัญหาการใช้งบประมาณกับภาครัฐ และเงินกองทุนนี้รัฐสามารถไปฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบการที่ละเมิดกฎหมายเพื่อนำเงินเข้ากองทุนได้
เก็บ 20% ของทุนจดทะเบียน
รายงานข่าวระบุว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานเรื่องกองทุน ที่ กมธ.ได้ยกร่างไว้นั้น เดิมได้กำหนดรายละเอียดไว้ในมาตรา 44 ว่า ผู้ที่จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน คือ ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 ให้หลักประกัน เพื่อเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงาน หรือแก้ไขปัญหามลพิษหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จำนวนร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียนนิติบุคคล
โดยให้วางหลักประกันเป็นงวด (รายปี) โดยวางงวดแรก ให้วางกึ่งหนึ่ง งวดต่อไปให้วางร้อยละ 30 ของเงินหลักประกันที่เหลือ อีกไม่เกิน 3 งวด โดยวางวงเงินหลักประกันพร้อมค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งประเด็นนี้จะต้องรอดูความชัดเจนในร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้โทรศัพท์สอบถามแล้ว แต่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่รับสาย
ส.อ.ท.แบ่งรับแบ่งสู้เตรียมถก
ด้านนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า ส.อ.ท.ได้เคยประชุมร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ที่เปิดรับฟังความเห็นภาคเอกชนในการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม 2535
ซึ่ง ณ ตอนนั้น จะมีการแก้ไขใน 7 ประเด็น และ 1 ใน 7 คือ มาตรา 8 เพิ่ม (9) จัดตั้งกองทุน และ (10) กำหนดหลักประกันที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องนำมาวางไว้ในกองทุน เพื่อนำมาใช้ป้องกัน บรรเทา ระงับความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน และสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน และแก้ไขมาตรา 42 กรณีผู้ประกอบกิจการโรงงานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งมาตรา 37และ 39 ให้นำ เงินกองทุน มาใช้ได้
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่ม ม.5/1 กำหนดให้โรงงานที่มีความเสี่ยงสูงและมีผลกระทบต่อประชาชน เป็นโรงานตาม พ.ร.บ.โรงงาน กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่บุคคล หรือทรัพย์สิน หรือเพื่อป้องกันความเสียหาย หรือความเดือดร้อนแก่บุคคล หรือทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง
กำหนดให้โรงงานบางประเภทหรือชนิดของโรงงานที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามมาตรา 7 ที่ประกอบกิจการโรงงานโดยใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ห้าแรงม้า หรือเทียบเท่าตั้งแต่ห้าแรงม้าขึ้นไปแต่ไม่ถึงห้าสิบแรงม้า หรือใช้คนงานตั้งแต่เจ็ดคนขึ้นไปแต่ไม่ถึงห้าสิบคน โดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม เป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ให้ถือว่ากำลังแรงม้าเครื่องจักรและจำนวนคนงานตามวรรคหนึ่ง อยู่ในคำนิยามคำว่า “โรงงาน” ตามมาตรา 5 เป็นต้น
ทั้งนี้ หลังจากรับฟังความเห็นแล้ว ตามกระบวนการกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนเสนอเข้าสู่สภาพิจารณาตามกระบวนการ
“ในมุมมองของเอกชน แม้ว่าการตั้งกองทุน จะทำให้เกิดภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่น่าจะเห็นด้วยในหลักการว่าเป็นประเด็นที่ต้องเดินหน้าต่อ ปล่อยให้ปัญหาเป็นแบบนี้ไม่ได้ แต่แนวทางหลังจากนี้ คณะกรรมการ ส.อ.ท. ชุดประธาน เกรียงไกร เธียรนุกุล ซึ่งเพิ่งจะเปลี่ยนผ่านวาระที่ 2 เมื่อเดือนเมษายน จะต้องนำประเด็นนี้ไปหารือขอความเห็นจากสมาชิก 46 กลุ่มอุตสาหกรรมต่อไป แต่ส่วนตัวมองว่าการแยกไปเสนอในสมัยหน้าช้าเกินไป ควรจะแก้ไปพร้อมกันกับการแก้ พ.ร.บ.กองทุน เป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน ต้องใช้ เพราะปัญหาสารเคมีตอนนี้เกิดขึ้นหลายเคส”