เทียบสิทธิประโยชน์ EEC-บีโอไอ เอราวันฯ จะได้อะไรเพื่อลุยไฮสปีดเทรน

EEC

“เอเชีย เอรา วัน” ผู้ชนะประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 224,544 ล้านบาท ไม่ง้อขอออกบัตรส่งเสริมบีโอไอ หลังเดดไลน์พรุ่งนี้ 23 พ.ค. 2567 จับตายื่นขอสิทธิจาก EEC ที่อาจได้เหนือกว่า

วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวว่า ตามที่ได้เคยให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ไว้ก่อนหน้านี้และย้ำหลายครั้งว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเทรน ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

“แม้ว่าบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้ชนะประมูลจะยกเลิกสัญญาก็ตาม รัฐจะต้องหาผู้มาลงทุนใหม่ให้ได้ ด้วยการเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง ซึ่งนั่นอาจทำให้โครงการล่าช้าออกไป 1 ปีครึ่ง -2 ปี แต่ย้ำว่าไฮสปีดเทรนอย่างไรก็ต้องมี”

ในขณะเดียวกัน การที่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด จำเป็นต้องยื่นขอการส่งเสริมและออกบัตรส่งเสริมกับทางบีโอไอนั้น เนื่องจากเป็นข้อกำหนดที่อยู่ในสัญญาของโครงการ และหากเอรา วันฯ จะไม่ขอออกบัตรส่งเสริมจากทางบีโอไอ ก็สามารถขอสิทธิประโยชน์จาก EEC ได้ ซึ่งก็ต้องพิจารณาสัญญากันใหม่

สิทธิประโยชน์ EEC

อย่างไรก็ตาม หากเทียบสิทธิประโยชน์ระหว่าง EEC และ บีโอไอ แล้วจะเห็นว่าสำหรับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจาก EEC นั้นจะมีด้วยกันทั้ง 14 ข้อ ข้อพิเศษสุดคือการเจรจาเฉพาะราย ประกอบด้วย

Advertisment

1.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สําหรับกําไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการระยะเวลา 1-15 ปี การยกเว้นดังกล่าวอาจกําหนดเป็นสัดส่วนของทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียนด้วยก็ได้

2.ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราไม่เกิน 50% ของอัตราปกติ ระยะเวลา 1-10 ปี (กรณีที่ผู้ประกอบกิจการไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล) และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตราไม่เกิน 50% ของอัตราปกติ ระยะเวลา 1-5 ปี นับจากวันที่การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้สิ้นสุดลง (กรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเวลาไม่เกิน 8 ปี)

3.สามารถนําผลขาดทุนประจําปีที่เกิดขึ้น ระหว่างที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ไปหักออกจากกําไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยมีกําหนดเวลาไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่พ้นกําหนดเวลานั้น โดยจะเลือกหักจากกําไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้

4.ผู้ประกอบกิจการที่ไม่ได้รับทั้งการยกเว้นหรือการลดหย่อนภาษี อาจได้สิทธิในการนําเงินที่ใช้ไปในการลงทุน หักออกจากกําไรสุทธิรวมทั้งสิ้นจํานวน 1-70% ของเงินที่ลงทุนแล้วในกิจการนั้น นอกเหนือไปจากการหักค่าเสื่อมราคาตามปกติ โดยจะเลือกหักจากกําไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้ ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีรายได้

Advertisment

5.สามารถหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาได้ 2 เท่า ของจํานวนเงินที่เสียไปเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ

6.สามารถนําเงินลงทุน 1-25% ของเงินที่ลงทุนแล้ว มาหักจากกําไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้ ภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีรายได้จากการลงทุน ทั้งนี้นอกเหนือไปจากการหักค่าเสื่อมราคาตามปกติ

7.ยกเว้นไม่ต้องนําเงินปันผลจากกิจการซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล มารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกอบกิจการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยให้รวมถึงเงินปันผลที่ได้จ่ายภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่พ้นระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ด้วย

8.ยกเว้นการนําค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น ของผู้ประกอบกิจการ มารวมคํานวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ มีกําหนดระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ผู้ประกอบกิจการเริ่มมีรายได้

9.ยกเว้นอากรขาเข้าสําหรับเครื่องจักร 10.ยกเว้นอากรขาเข้าสําหรับของที่ผู้ประกอบกิจการนําเข้ามาเพื่อ ใช้ในการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการทดสอบที่เกี่ยวข้อง

11.ยกเว้นอากรขาเข้าสําหรับวัตถุดิบและวัสดุจําเป็นที่ต้องนําเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อใช้ผลิต ผสม หรือประกอบผลิตภัณฑ์หรือผลิตผล เฉพาะที่ใช้ในการส่งออก ตามเงื่อนไข วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการเจรจาฯ กําหนด

12.ลดหย่อนอากรขาเข้า สําหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจําเป็นที่นําเข้ามา ในราชอาณาจักรเพื่อใช้ผลิต ผสม หรือประกอบในกิจการที่ ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการในอัตราไม่เกิน 90% ของอัตราปกติ โดยมีกําหนดเวลาคราวละไม่เกิน 1 ปี

13.ยกเว้นอากรขาเข้าสําหรับของที่นําเข้ามาเพื่อส่งกลับออกไป ตามเงื่อนไข วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการเจรจาฯ กําหนด

14.ยกเว้นอากรขาออกสําหรับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผล ที่ผู้ประกอบกิจการผลิตหรือประกอบ ตามเงื่อนไข วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการเจรจาฯ กําหนด

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี คือ 1.สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาต 2.สิทธิถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อประกอบกิจการหรืออยู่อาศัย

3.สิทธิในการนําคนต่างด้าวที่เป็น ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร หรือผู้ชํานาญการ ตลอดจนคู่สมรสและบุคคล ซึ่งอยู่ในอุปการะของบุคคลดังกล่าว เข้ามาและอยู่อาศัย ในราชอาณาจักรได้ตามจํานวนและระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการฯ

4.คนต่างด้าวที่เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร และผู้ชํานาญการ ที่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นําเข้ามาสามารถทํางานได้ภายใต้ EEC Work Permit ซึ่งอนุมัติโดยเลขาธิการฯ

สิทธิประโยชน์ BOI

ส่วนสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ ซึ่งจะมีกฎหมาย 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน 2560 และ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2560 พิเศษคือ มีสิทธิ “อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาศึกษาลู่ทางการลงทุนได้ก่อน” หรือหากดูแล้วมีแนวโน้มการขยายการลงทุน มีผลประกอบการดี เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนก็จะขยายระยะเวลาการพำนักในราชอาณาจักรให้ด้วย

แต่สิทธิประโยชน์หลังจากนี้ที่นักลงทุนจะได้แบบเต็ม ๆ คือ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามประเภทกิจการที่บีโอไอได้จัดหมวดหมู่ไว้ โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่ม โดยA1+ ยกเว้นภาษี 10-13 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน+สิทธิอื่นที่ไม่ใช่ภาษี) A1 ยกเว้นภาษี 8 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน+สิทธิอื่นที่ไม่ใช่ภาษี)

A2 ยกเว้นภาษี 8 ปี (บวกสิทธิอื่นที่ไม่ใช่ภาษี) A3 ยกเว้นภาษี 5 ปี (บวกสิทธิอื่นที่ไม่ใช่ภาษี) A4 ยกเว้นภาษี 3 ปี (บวกสิทธิอื่นที่ไม่ใช่ภาษี) B ได้เพียงยกเว้นอากรเครื่องจักร วัตถุดิบ ของนำเข้าเพื่อวิจัย และสิทธิอื่นที่ไม่ใช่ภาษี เช่น กรรมสิทธิ์ที่ดิน

ซึ่งอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีคือ ลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร ลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินปันผล

ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ให้หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปาเป็น 2 เท่า ให้หักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เกิน 25% ของเงินลงทุน ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีคือ การอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาศึกษาลู่ทางการลงทุนได้ก่อนตามที่กล่าวมาในข้างต้น การอนุญาตให้นำช่างฝีมือและผู้ชำนาญการเข้ามาทำงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน อนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน อนุญาตให้ส่งออกซึ่งเงินตราต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน อย่างการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ซึ่งจะได้วงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 200% ของเงินลงทุน/ค่าใช้จ่าย

ยังรวมไปถึงสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามพื้นที่ อย่างลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เขต EEC เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) หรือจะเป็นพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่ำ

นอกจากนี้ บีโอไอยังมีเครื่องมือพิเศษอีกคือ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2560 ที่จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 15 ปี เงินสนับสนุนจากกองทุน 10,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

หรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งการสนับสนุนเงินดังกล่าวจะต้องมีการกำหนดเกณฑ์ รวมถึงรายละเอียดแต่ละโครงการอย่างเหมาะสม และเกิดความคุ้มค่ากับเงินที่สนับสนุนที่สุด มีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมไทยและประเทศไทย

Scroll to Top